1) เลือกดนตรีที่ใช่ จากแนวเพลงที่ชอบ
เมื่อศึกษาเพิ่มเติมลงไป ฝั่งที่มีน้ำหนักมากกว่า และอัพเดทใหม่กว่า กลับเป็นฝั่งผลดีจากการฟังเพลงขณะทำงาน ผลการศึกษาของ Teresa Lesiuk ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเธอคนนี้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา Music Education and Music Therapy จาก University of Miami ที่ออกมาระบุว่า กว่า 90% ของช่วงเวลาการฟังเพลง สร้างเสริมประสบการณ์ในเชิงบวกที่ดีกว่าเมื่อพวกเขาได้ฟังเพลงประเภทในก็ตามที่พวกเขา “ชอบ” ดังนั้นอันดับแรกเลยของการที่จะฟังเพลงตอนทำงาน ก็ควรมี Playlist แนวเพลงที่ตัวเองชอบกันเสียก่อน เพราะเมื่อใดก็ตามที่เพลงถูกรันไปในแนวที่ตัวเองไม่ได้ชอบนั้น ก็อาจจะสร้างความหงุดหงิดกวนใจไปเปล่าๆ
เพราะผลการศึกษาออกมาว่า การฟังเพลงที่ในแนวที่เราชอบ จะช่วยปรับอารมณ์ของเราให้รู้สึกดี และเมื่อเรารู้สึกดี เราก็จะใจเย็นในการแก้ปัญหาได้มีสติรอบคอบมากยิ่งขึ้น อีกทั้งดนตรีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเพิ่มความสร้างสรรค์เข้าไปในงานได้อีกด้วย ซึ่งทั้งนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในบางอย่างสำหรับกลุ่มดนตรีที่มีจังหวะที่ค่อนข้าง Extreme ไปสักหน่อย ก็อาจจะสร้างความรบกวนใจได้แทน (เสียใจด้วยสำหรับสาย Heavy Metal และ EDMs 555+) แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้วไม่ว่าจะดนตรีแนวไหนก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความชอบเป็นหลักอยู่ดี
2) เนื้อเพลงดึงสมาธิเราไปมากกว่าที่คิด
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือนอกจากการเลือกแนวเพลงแล้ว การเลือกบทเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องนั้นดูจะช่วยส่งเสริมการทำงานมากกว่า เพราะเนื้อเพลงนั้นจะช่วยดึงดูดความสนใจของเรา ให้ไปโฟกัสที่ตัวเนื้อเพลง (และบางครั้งก็ทำเอาปากขยับร้องตามไปอีก) จนกลายเป็นว่าเราต้องแบ่งสมาธิส่วนนึงไปกับเพลงเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้สิ่งที่เราอ่านเข้าสมองได้น้อยลง เวลาคิดอะไรก็จะเหมือนติดขัดอยู่ไม่น้อย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่แม้ว่าเราจะไม่ได้สนใจเนื้อเพลงอะไรมากมาย แต่พอถึงเวลาเรากลับร้องเพลงนั้นๆ ได้อย่างน่าประหลาด แถมยังจดจำเนื้อร้องได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะสมาธิส่วนนึงของเราถูกนำไปใช้กับการนำเนื้อร้องเหล่านี้เข้าสู่ระบบความจำแทน
ส่งผลให้บรรดาร้านกาแฟ (แบบเอาไว้นั่งทำงาน) ร้านหนังสือ หรือแม้แต่ Co-Working Space นั้น ต่างเลือกใช้ดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้องออกมาคลอๆ มากกว่าการที่จะใช้เพลงที่มีเนื้อร้อง เพราะจะเอื้อต่อลูกค้าที่มานั่งทำงาน หรืออ่านหนังสือมากกว่า เพราะไม่เป็นการรบกวนสมาธิของลูกค้าเหล่านี้
3) ดนตรีไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพของทุกคน
อีกหนึ่งผลการศึกษาที่น่าสนใจที่ออกมาของ Teresa Lesiuk นั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างฟังเพลงนั้น มีตัวแปรหนึ่งที่สำคัญอย่างมากก็คือ เรานั้นถนัดในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มากน้อยขนาดไหน เพราะมีผลการวิจัยอันหนึ่งที่พบว่ากลุ่มคนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการฟังเพลงในระหว่างทำงานได้ดีที่สุดก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้ “ใหม่” เกินไป และไม่ได้ “เก่ง”เกินไปในงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่
เพราะสำหรับคนที่เก่งในงานที่ตัวเองทำอยู่แล้ว สิ่งที่เขาจะได้ก็คือประโยชน์ในเรื่องของอารมณ์ที่ดีขึ้นในการทำงาน แต่อาจจะไม่ได้ส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง คนกลุ่มนี้จะยังคงทำงานได้ดีไม่ว่าจะฟังเพลงหรือไม่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่เก่งแบบกลางๆ ในงานที่ตัวเองทำ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเห็นได้ชัดเลย โดยส่วนสุดท้ายคือคนที่ไม่มีสกิลหรือใหม่กับงานนั้น ดนตรีอาจจะปรับได้เรื่องอารมณ์แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ช่วยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วพนักงานยังคงต้องเรียนรู้และปรับทักษะของตัวเองโดยที่ดนตรีก็ช่วยไม่ได้ในส่วนนี้
อ่านผลวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0305735605050650
4) ดนตรีสังเคราะห์เพื่อการทำงาน
เมื่อพบว่าแล้วว่าดนตรีมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจริง ต่อมานักวิจัยก็เลยวิเคราะห์ต่อไปถึงในส่วนของดนตรีสังเคราะห์ (Streamlined Music ลองฟังตัวอย่างได้ตามนี้ https://www.youtube.com/watch?v=_bzFjPscuQw) ว่าดนตรีประเภทนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะพบว่าดนตรีประเภทนี้ช่วยให้เราสามารถจดจ่อกับงานได้เพิ่มขึ้น ทำความเข้าใจกับเรื่องยากๆ ได้ดี รวมไปถึงยังส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ให้ได้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษานั้น แม้ว่าดนตรีสังเคราะห์จะช่วยทำประโยชน์ได้มากมายในข้างต้น แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของ การสร้างความจดจำ ทั้งในเรื่องภาพ คำศัพท์ รวมไปถึงการคิดอย่างเป็นระบบ ที่จะไม่สามารถช่วยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นจากผลวิจัยก็ยังพบว่าในส่วนของประโยชน์ของดนตรีสังเคราะห์ที่ช่วยได้ ก็เหมาะที่จะนำมาปรับใช้กับงานประจำที่ทำซ้ำๆ ในแต่ละวัน และปรับอารมณ์ให้กับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่มีต้นทุนอะไรตามมาแม้แต่น้อย นับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับอารมณ์ในการทำงานให้ได้คุ้มค่าเป็นอย่างดี
ดูผลวิจัยเรื่องดนตรีสังเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ https://arxiv.org/abs/1610.04255
สรุปแล้วการฟังเพลงในตอนทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรทำดังนี้
- เลือกแนวเพลงที่เราชอบ ฟังแล้วสบายใจ โดยที่ไม่รบกวน
- พยายามเลือกดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้อง เพราะจะทำลายสมาธิ
- การฟังเพลงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคนที่มีทักษะการทำงานได้เป็นอย่างดี สำหรับคนเก่งเกินหรือเริ่มต้นใหม่ จะทำให้ได้แค่เพียงปรับอารมณ์
- ดนตรีสังเคราะห์อาจช่วยเพิ่มสมาธิ และความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่มีผลต่อการจดจำต่างๆ