จำไว้ว่าเราคือ “Brand”
เวลาธุรกิจมอง Freelancer เวลาไปนำเสนองานนั้น มักไม่ต่างกับการหาแบรนด์ มาร่วมงานด้วยสักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีชื่อเสียงในวงการอยู่ในระดับนึงอยู่แล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คุณเป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ และเพิ่มโอกาสที่จะปิดดีลงานนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ต่างอะไรแบรนด์สินค้าที่มีอยู่ในตลาด ถ้าคนไม่ชอบแบรนด์ จะออกสินค้าอะไรมาคนก็ไม่อยากซื้อ กับ Freelancer ก็เหมือนกัน ถ้าเข้าไม่ชอบคุณแต่แรก หรือยังมีชื่อเสียงไม่มากพอจะเอางานอะไรมาเสนอก็อาจจะแพ้คู่แข่งในวงการเดียวกันไปซะหมด ดังนั้นการขายงานของคุณนั้น ไม่ต่างอะไรจากการขายตัวเอง แล้วทีนี้คำถามคือแล้วเราจะสร้าง Personal Brand ขึ้นมาได้ยังล่ะ?
1) สร้างเว็บไซต์ หรือเพจของตัวเอง
ขนาดเราซื้อของยังต้องหารีวิวบนโลกออนไลน์ก่อน การที่บริษัทจะจ้างคนสักคนมารับงานบางอย่างก็อาจจะมีกระบวนการที่ไม่ต่างกันเท่าไร ดังนั้นการสร้างเว็บไซต์ หรือเพจนั้น จึงเป็นการเพิ่มข้อมูลของตัวเองเอาไว้บนโลกออนไลน์ ทำให้เมื่อมีคนมาหาอย่างน้อยๆ จะได้ไม่เจอกับความว่างเปล่า ที่ไม่มีข้อมูลอะไรให้เลย
ในขณะเดียวเว็บไซต์ หรือเพจของตัวเองนี้ ก็เปรียบเสมือนเป็นภาพลักษณ์ด่านแรกที่ผู้คนมีโอกาสเข้ามาพบเจอ ซึ่งหากทำออกมาได้ไม่ดีแล้ว ตัวตนของแบรนด์เราก็จะสะท้อนออกมาจากตรงนี้ ดังนั้นแค่มีก็คงไม่พอ แต่ต้องทำให้มันดีด้วย เช่น การใส่ข้อมูลต่างๆ รวมถึงผลงานที่เคยทำมาให้ครบถ้วน มีการอัพเดทอยู่เสมอ ในส่วนของเพจนั้น ไม่จำเป็นต้องโพสท์เป็นการขายของอย่างเดียว อาจลงบทความในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญที่จะทำออกมาก็ได้ เช่น หากถนัดงานเชิงกราฟฟิค ก็อาจมีคอนเทนท์ความรู้เกี่ยวกับการทำกราฟฟิคเพิ่มเข้าไปก็ได้
2) สร้าง LinkedIn
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าบน LinkedIn จะเป็นที่หางาน หรือ Community พนังานเงินเดือนเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ว่างานอะไรก็สามารถหาได้บนนี้เช่นกัน เพียงแค่ใส่ประวัติให้ชัดเจนสักหน่อย และบ่งบอกจุดเด่นให้ชัดเจนว่าเชี่ยวชาญในงานด้านไหน
ซึ่งนอกจากในส่วนของประวัติเบื้องต้นแล้ว สิ่งอาจจะต้องทำเพิ่มเติมคือการมองหา Headhunter ทั้งหลาย ที่โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ต้องการงาน Freelance นั้น การสร้าง Connection ร่วมกันเอาไว้ก็มีโอกาสให้เรามีโอกาสเป็นตัวเลือกขึ้นมาได้มากขึ้น
3) Community คือสิ่งสำคัญ
สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ไว้ก่อนก็คือในบรรดา Community ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาของ Freelancer หรือแหล่งรวมงาน Freelance อะไรเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงแต่บรรดา Freelancer ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาธุรกิจที่เข้ามามองหา Freelancer ไปร่วมงานด้วย หรือแม้แต่บรรดา Freelancer ที่อาจจะได้งานใหญ่มา แล้วมาหาปาร์ตี้เอาคนไปร่วมโปรเจคด้วยกัน
ดังนั้นการมีตัวตน ในกลุ่มเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งการหมั่นคอยช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับบรรดาคำถามของ Freelancer คนอื่นๆ ในงานบางอย่างที่เราเชี่ยวชาญ หรือการวางตัวต่างๆ ไม่อวดเก่ง หรือโจมตีคนอื่นก็เป็นอีกเรื่องที่อาจทำให้เรากลายเป็นที่รัก มี Connection ใหม่ๆ เพิ่มเติม และมีตัวเลือกอันดับต้นๆ ของบรรดาธุรกิจได้ในที่แห่งนี้
เมื่อเราสามารถสร้าง Brand ขึ้นมาได้แล้ว ก็อย่าลืมหลักการ 3 ข้อง่ายๆ ดังนี้
- ทำตัวให้หาง่าย: เพราะจำเอาไว้ว่ายิ่งหาง่ายก็ยิ่งเพิ่มโอกาส ที่จะมีคนพบเห็นมากขึ้น
- ทำตัวให้น่าจดจำ: เมื่อมีคนพบเห็นเราแล้ว สิ่งที่อยากจำได้ก็คือในทางที่ดี เพื่อให้เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เขาจะนึกถึง
- รู้สึกดีเมื่อได้เจอ: ในส่วนนี้ เมื่อเรามีโอกาสแล้ว ก็ควรสร้างความประทับใจที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อให้พวกเขาเลือกที่จะจ้างเราแทนคู่แข่งคนอื่นๆ
มี Business Plan
จริงๆ การเป็น Freelancer ไม่ต่างกับการเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง เพียงแต่มองให้เหมือนธุรกิจที่ย่อขนาดโดยที่พนักงานก็คือ เราคนเดียว เท่านั้น ส่วนบรรดาธุรกิจที่จ้างเรานั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อบริการที่เราเตรียมเอาไว้ให้ ส่งผลให้การทำ Business Plan หรือแผนธุรกิจนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นแม้ว่าจะเป็นการทำงานแค่เพียงคนเดียวก็ตาม เพราะมันจะทำให้เรามองเห็นภาพหลายๆ อย่างทั้งสิ่งที่ควรพัฒนาและปรับปรุง เพื่อนำไปสู่ความเป็นมืออาชีพได้ในอนาคต โดยสิ่งที่ต้องทำเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่สามารถเริ่มได้ก็มีดังนี้
1) การคำนวณ รายรับ-รายจ่าย
โดยการหากระแสเงินสดแบบง่ายๆ ก็อาจมองในส่วนที่เป็นเงินที่ได้จากงานจ้าง กับส่วนต้นทุนที่ใช้ไป ซึ่งในส่วนต้นทุนนี้ก็พยายามคิดออกมาให้ครบถ้วน ทั้งค่าจ้างให้กับตัวเอง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นหลายๆ อย่าง เช่นค่าลิขสิทธิโปรแกรม หรือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าร้านกาแฟก็รวมอยู่ในนี้แทบทั้งสิ้น เมื่อได้ต้นทุนมาแล้ว จึงนำไปตั้งราคาในแต่ละงานที่เหมาะสมได้มากขึ้น และรู้ว่าต้องหารายได้เท่าไรในต่อวัน/เดือนถึงจะเพียงพอ หรือสร้างความมั่งคั่งจากอาชีพขึ้นมาได้
สามารถอ่านบทความการคำนวนค่าใช้จ่ายและการตั้งราคางานฟรีแลนซ์ได้ที่นี่
https://uppercuz.com/blog/how-to-calculate-your-freelance-rate/
2) หาจุดแข็ง จุดอ่อน ตัวเองเมื่อเทียบกับคู่แข่งสายเดียวกัน
อาจจะไม่ต้องถึงขนาดทำเป็น SWOT Analysis ออกมาก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีจุดเด่นยังไง และอะไรที่เราสามารถทำได้ดีกว่าคนอื่นในสายเดียวกัน อาจจะเป็นความละเอียด ความเร็ว จัดการงานยากๆ ได้ หรืออะไรก็ได้ ที่เป็นปัจจัยเมื่อเกิดการเปรียบเทียบแล้วเราจะสามารถเหนือกว่าคู่แข่งได้
ถ้าหากพิจารณาแล้วยังไม่มี นั่นคือสัญญาณที่เราจะต้องเริ่มหาสักอย่างแล้วล่ะ เพื่อให้ในการนำเสนองานหรือโปรเจคในครั้งใด จะได้มีโอกาสเป็นตัวเลือกได้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ในส่วนของจุดอ่อน ถ้าเราเข้าใจตัวเองจนเริ่มปิดมันลงไปได้แล้ว ก็น่าจะช่วยให้เราเป็น Freelancer ที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจขึ้นได้ไม่น้อยเลยล่ะ
3) การวางแผนในการทำงาน Slot เวลาต่างๆ
จะดีกว่านี้มาก ถ้าหากเราเริ่มเรียนรู้สกิลประเภท Project Management เอาไว้บ้าง เพราะความสามารถในส่วนนี้แหละที่จะทำให้เราวางแผนในการทำงานได้ง่ายขึ้น และรู้ว่าในแต่ละวัน หรือช่วงนั้น เรามี Slot เหลือเท่าไร เพราะข้อผิดพลาดของ Freelancer จำนวนมากที่เพิ่มเริ่มต้นนั้น มักมีอาการไฟแรงจนเกินไป และเน้นหาโปรเจคมาลงให้ได้เยอะๆ ทำงานให้ได้มากๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของตัวเอง
จนกลายเป็นว่าหลายครั้งที่เมื่อรับมาแล้ว ก็พบว่าไม่สามารถทำงานได้ทันตามที่กำหนด หรือถ้าทันก็เป็นการปั่นอยากสุดชีวิตจนต้องเสียคุณภาพบางส่วนทดแทนกันไป ดังนั้นหากวาง Timeline และกำหนดเวลาทำงานของตัวเองได้ ก็ช่วยวางแผนการทำงานให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น รวมถึงงานในอนาคตที่อาจจะเข้ามาในปริมาณที่มากกว่าเดิมอีกด้วย
การเตรียมตัวพบปะลูกค้า
ในการทำแบรนด์หรือทำแผนธุรกิจใน 2 ข้อข้างต้นนั้น จะช่วยในเรื่องการเตรียมตัวก่อนเจอลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น หากเรามีเว็บไซต์อยู่แล้ว เราก็สามารถนำสิ่งที่มีไปแสดงถึงความเชี่ยวชาญขึ้นมาได้เลย และจะยิ่งดีกว่านี้หากเรามีการเก็บพอร์ทเอาไว้อีกก็เป็นอีกส่วนที่สามารถนำไปเสนอได้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดย Tips ที่อยากจะเอามาแนะนำกันในวันนี้ ก๋็เป็นสิ่งที่สามารถนำไปปรับใช้ได้เพื่อให้การพบลูกค้าแต่ละครั้ง ช่วยเพิ่มคุณค่าได้มากขึ้นกันแบบง่ายๆ ดังนี้
1) ไปก่อนเวลา
เป็นหลักการอีกข้อที่สามารถเริ่มได้ง่ายๆ และควรท่องจำเอาไว้ในใจเสมอ เพราะเวลาที่ได้เจอจะเป็น First Impression และ เป็นอย่างแรกที่แทบจะตัดสินตัวตนกันได้เลย ซึ่งหากครั้งแรกเราดันไปช้ากว่าเวลานัดนั้น แน่นอนว่าคะแนนความนิยมอาจจะต้องตกลงไปอย่างน่าเสียดาย
เพราะทุกคนในธุรกิจต่างมองเวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหมือนกัน และคงไม่อยากเสียเวลาที่มีคุณค่าของตัวเองไปกับการรอคนอื่น ในทางกลับกันการมาก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง ก็เป็นการให้เกียรติรวมไปถึงเป็นการแสดงออกถึงความต้องการที่อยากได้จริงๆ เสียด้วย แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็อาจจะเพิ่มโอกาสให้ได้มากกว่าจริงๆ
2) เน้นการรับฟัง และการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
คิดเอาไว้เสมอว่าเราไม่ได้จะมาขายของ แต่เราจะมาช่วยเขาแก้ปัญหา ดังนั้นสิ่งแรกที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ก็คือการรับฟังปัญหาด้วยความตั้งใจ พยายามหา pain point ที่เกิดขึ้นกับลูกค้าให้ได้ และมองว่าด้วยความสามารถที่เรามีนั้นจะนำมาแก้ปัญหาได้อย่างไร ซึ่งเมื่อคิดออกมาได้แล้ว ก็ต้องช่วยแก้ปัญหาให้เขาอย่างตรงจุด ไม่ใช่ปัญหามีอยู่อย่างนึง จะไปเสนอแก้ไขอีกอย่างก็คงไม่ใช่
ซึ่งในเรื่องการแก้ปัญหานั้นจะดีมากๆ ถ้าสิ่งที่แก้ได้ จะสามารถชี้วัดกันได้เป็นตัวเลข หรือสิ่งที่เปรียบเทียบกันได้ว่าดีกว่าเดิม เพราะนอกจากมันฟังดูน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดว่างานนี้ประสบความสำเร็จและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ตรงจุดหรือเปล่าอีกด้วย
3) แผนงานที่มี Option ทั้งตัวงานและราคา
ไม่ใช่ทุกครั้งที่ลูกค้าจะฟังเราแล้วเลือกตกลงกับงานเลย อาจจะด้วยงบประมาณ สโคปของงาน หรือระยะเวลาต่างๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ลูกค้าในธุรกิจมักใช้เอามาคิด นั่นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น ในรูปแบบ Package ต่างๆ ว่า ทั้งในแบบจัดเต็มเลยสำหรับลูกค้าเงินหนา หรือในรูปแบบหากทำในระดับนี้จะคิดราคาเท่านี้ หากลดระดับลงมาราคาก็จะลดไปอีกเท่าไร เพื่อมาเป็นตัวเลือกให้เหมาะสมกับที่ลูกค้าต้องการ ดีกว่ามีทางเลือกเดียวจาก 1 อย่าง ให้ลูกค้าตัดสินใจได้แค่รับหรือไม่รับเท่านั้น
4) Relationship เป็นเรื่องสำคัญ
ไม่สำคัญว่างานที่เราเสนอนั้นจะได้หรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือลูกค้ามองเราอย่างไร และเก็บเราเอาไว้เป็นตัวเลือกในงานต่อๆ ไปหรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องปกติมาก ที่บางงานเรานั้น สิ่งที่เราเชี่ยวชาญมันอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการขนาดนั้น แต่การสร้าง Connection เอาไว้ให้เขาประทับใจในตัวเราแล้ว พอถึงวันนึงที่ลูกค้ามีงานที่เหมาะสม เขาก็จะนึกถึงเราเป็นอันดับแรกๆ ดังนั้น แม้ว่างานนี้จะไม่ได้ แต่อยากให้นำเสนอ Solution ต่อลูกค้าด้วยความจริงใจ สร้างความประทับใจให้เป็นที่น่าจดจำ เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าโอกาสเหล่านี้จะมาถึงเราได้อีกเมื่อไร