ดิจิทัลต้องรู้!

พูดไม่เก่ง แต่อยากเล่น Clubhouse ฝึกยังไงดี

     
       ถ้าปี 2020 เรามี TikTok ที่สร้างปรากฏการณ์ความบันเทิงสำหรับคลิปสั้นๆ เอาไว้แก้เหงา จนติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว มาถึงปีนี้ 2021 เทรนด์แก้เหงาออนไลน์สุดฮิตจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากปรากฏการณ์ขอ “บัตรเชิญ” เพื่อเข้าไปสู่ Clubhouse นั่นเอง

     
     ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า Clubhouse เนี่ยก็เป็น Application สไตล์ Podcast ผสมการ Chat ที่ผู้ใช้ สามารถเปิดห้องเพื่อทำการสนทนากับผู้เข้าร่วมได้ หรือในมุมกลับกันผู้ใช้ก็สามารถเข้าไปเป็นผู้เข้าร่วมในฐานะผู้ฟังได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ต่างจาก Podcast ก็คือ Clubhouse เป็นการพูดคุยแบบ Real-Time และไม่มีสามารถอัดเสียงเหล่านี้เก็บเอาไว้ได้ รวมไปถึงการเป็นกึ่ง 2 Way Communication ที่ผู้ฟังก็สามารถยกมือเพื่อถามคำถาม หรือถกเถียงได้ในทันที หากผู้จัดการห้องนั้นส่งไมค์ให้เราได้เป็นคนพูด

     Clubhouse นั้นเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสักเดือนพฤษภาคมของปีก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ สะสมบรรดาผู้ใช้ จนมีเซเลบมากมายเริ่มสนใจใน Platform นี้และแห่กันเข้ามาอย่างคับคั่ง แต่คนที่ปลุกกระแสขึ้นมาให้ปังได้ขนาดนี้ คงหนีไม่พ้นชายที่มีชื่อว่า Elon Musk ซึ่งเป็น CEO ของ Tesla และ Space X นั่นเอง เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ตัว Elon เองได้กล่าวใน Twitter ส่วนตัวไว้ว่า จะมีการจัด Talk ว่าด้วยความฝันที่จะไปอยู่บนดาวของเขา ผ่านทาง Clubhouse จนเป็นที่สนใจของผู้คนเป็นอย่างมาก และทำให้ราคาของ invitation ของ Application นี้มีมูลค่าถึง $100 (3 พันกว่าบาท) เลยทีเดียว

     ซึ่งเจ้าแอพที่ว่านี้ ก็มีเรื่องชวนหัวมากมาย และกว่าจะได้เป็นสมาชิกก็ดูยากเสียเหลือเกิน สมกับชื่อของ Clubhouse ที่เป็นแหล่งรวมอภิชนต่างๆ เอาไว้ เพราะเงื่อนไขที่แรกที่จะโหลด Application ได้ก็คือ ต้องมีผลิตภัณฑ์ ios เสียก่อน ตอนนี้ทีมพัฒนาลงเอาไว้แค่นี้เท่านั้น (ส่วนทีมแอนด๋อยก็นั่งจ๋อยกันไป) เท่านั้นไม่พอ ผ่านด่านแรกที่โหลด Application มาได้ ก็ต้องมาเจอด่านที่ 2 ไปอีกก็คือคนที่จะเข้าใช้บริการ Clubhouse ได้นั้น จะต้องมี Invitation หรือบัตรเชิญเสียก่อน แต่เจ้าบัตรเชิญที่ว่าก็ค่อนข่างมีจำกัด เพราะผู้ใช้ที่เข้าไปได้ 1 คนนั้น จะสามารถเชิญต่อไปได้อีก 2 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วจำนวนผู้ใช้น่าจะแนวโน้มที่แพร่กระจายต่อกันไปอย่างรวดเร็วแน่นอน แต่กิมมิคนี้ก็ช่วยให้ Application เป็นที่สนใจได้มากขึ้นจริงๆ


มาจนถึงตอนนี้จากการที่ Application เริ่มเป็นที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ทาง Uppercuz ก็เชื่อว่า น่าจะมีผู้ใช้หลายๆ คนที่เริ่มต้นจากการเข้าไปเป็นผู้ฟังในแต่ละห้องมาเป็นเวลาหลายวัน บางคนที่มีของ หรือมีสิ่งที่อยากเล่า ก็คงอยากที่จะมีโมเมนท์เปิดห้องเป็นผู้พูดกับเขาบ้าง แต่ด้วยความที่มันไม่ใช่ทักษะที่หลายคนจะมีติดตัวมาและทำได้ดี ทำให้หลายๆ คนที่อยากจะเล่าก็ดันพูดไม่เก่งจนเสียความมั่นใจ วันนี้ทางเราก็เลยอยากจะมาแนะนำเทคนิคการพูดใน Clubhouse สำหรับสมาชิกที่มีใจอยากเป็น Speaker ดูบ้างว่า ก่อนจะไปลงสนามเปิดห้องนั้น เราจะมีวิธีฝึกการพูดได้อย่างไรบ้าง

1) ลองสนามทดสอบระบบดูก่อน

     ก่อนที่จะเริ่มพูดหรืออะไร เราอยากให้ผู้ใช้เข้าใจระบบของ Application ของ Clubhouse กันก่อน เพราะไม่งั้นแล้ว แม้ว่าจะพูดเก่งขนาดไหนก็อาจตกม้าตายกับเมนูใหม่ที่ชวนงงกันได้ เนื่องจากตัว App ที่ค่อนข้างใหม่ และมีลูกเล่นในการใช้ในส่วนของผู้พูด หรือผู้ที่เป็นคนดำเนินรายการที่ต้องทำอยู่หลายอย่าง มากกว่าการที่พูดคนเดียวไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่  interface ในการใช้งานนั้น ทั้งในตัวของสัญลักษณ์ หรือคำศัพท์ต่างๆ ใน Application อาทิ Stage, Audience, Moderator, Clubs และอื่นๆ อีกมาก

     ที่ผู้ใช้จะต้องทำการเรียนรู้ และเข้าใจระบบเป็นอย่างดี โดยอาจเริ่มจากลองตั้งห้องในระบบปิด หรือจากแก๊งเพื่อนตัวเองดูว่าเมื่อเป็นผู้พูดหรือในมุมของ Moderator นั้น มันจะมี Function อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาให้ได้ลองบ้าง เพื่อที่เวลาพูดจะได้ไม่ต้องมานั่งพะวง หรือต้องมาลองระบบให้วุ่นวายไปอีก เพราะหากเกิดความผิดพลาดเมื่อไร ก็อาจทำให้ความตื่นเต้นมีมากกว่าเดิม จนลืมสาระสำคัญที่จะพูดไปหมดเลยก็ได้

2) เปิดห้องแบบไหน เตรียมตัวแบบนั้น

     หากเราตั้งใจที่เปิดสักห้องขึ้นมา อาจต้องมีการตัดสินใจว่า ห้องที่เราอยากจะพูดนั้นจะให้เป็นลักษณะใด จะได้ไปเตรียมตัวได้ถูกต้อง เพราะเราสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบ เหมือนห้องเล็กเชอร์ ที่จะให้เราเป็นผู้บรรยายแต่เพียงคนเดียวและไม่เปิดโอกาสให้ถามเลย ในส่วนนี้เราก็สามารถเตรียมบทพูด เพื่อร่ายยาวๆ ของเราเองได้ เพื่อเล่าในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร ซึ่งหากประเด็นมีความน่าสนใจและข้อมูลแน่นแล้วผู้ฟังก็พร้อมที่จะติดตามไปจนจบได้ 

     หรือจะเป็นในรูปแบบเปิดประเด็นชวนคุย ที่ตั้งประเด็นขึ้นมาสักอย่าง เพื่อเปิดให้ถกเถียงหรือเป็นแนวโต้วาที โดยที่มีเราเองเป็นหัวเรือของฝ่ายใดฝ่ายนึง ซึ่งในส่วนนี้เราอาจจะหาคู่สนทนาเอาไว้ก่อน หรือเปิดโอกาสให้กับคนอื่นๆ เข้ามาแสดงความเห็นเลยก็ได้ สำหรับรูปแบบนี้ก็อาจจะต้องเตรียมความพร้อมของข้อมูลที่ในการโต้แย้งในแต่ละประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นแทนที่จะเป็นบทพูดล้วนๆ

     จริงๆ เท่าที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมมาก็อาจจะมีห้องอีกหลากหลายประเภท อาทิ มี Speaker มาเป็นคนเล่าเรื่องต่างๆ แต่ก็เปิดโอกาสให้สอบถามได้ตลอด มีในลักษณะที่ผู้พูดเป็นผู้เชียวชาญในด้านต่างๆ และเปิดห้องเพื่อให้ผู้ฟังแต่ละคนได้ระดมมยิงคำถามถึงเรื่องที่สนใจได้ตั้งแต่เริ่ม หรือแม้แต่ห้องที่วนกันพูด ผลัดกันขึ้นมาพูดหรือแชร์ประสบการณ์ของตัวเองก็มีอีกมากมายเช่นกัน 

     ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราอยากลองพูดใน Clubhouse แล้ว อาจต้องลองเลือกรูปแบบมาดูก่อนว่า Session ที่อยากให้เป็นไปนั้น ออกมาในรูปแบบใด เพราะอย่างที่เห็นว่าในแต่ละรูปแบบนั้น จะอาศัยการเตรียมและทักษะที่ต่างกันออกไป

3) เพิ่มส่วนร่วมในห้องที่ไปฟังให้มากขึ้น

     การเข้าห้องอื่นๆ ที่หลากหลายก็เป็นการช่วยเปิดประสบการณ์อย่างนึงได้เหมือนกัน เราจะได้เห็นเทคนิคการพูด การเล่าในแต่ละเรื่อง แต่ละโทน ในหลากหลายรูปแบบที่เราสามารถจดจำและนำมาลองใช้ได้เป็นอย่างดี หรือหากอยากมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ก็อาศัยการยกมือ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ตัวเองจะได้มีโอกาสลองพูดดูบ้าง ว่าออกมายังไง หรือมีความตื่นเต้นมากน้อยขนาดไหน การเข้าไปลุยในห้องเหล่านี้ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในมุมของคนฟังที่อยากจะได้พูดอะไรบ้าง

     หรือห้องที่ดีกว่านั้นคือห้องที่ผลัดกันมาแชร์ประสบการณ์ ที่ให้เราได้ลองพูดเนื้อหาสั้นๆ สลับกับคนอื่นดูก่อน โดยที่ไม่ต้องอาศัยการเตรียมตัวมากนัก และด้วยความที่ไม่ใช่ Host แล้วก็อาจลดความกดดันลงมาได้บ้าง หากลองในสนามเหล่านี้จนชินแล้ว วันนึงจะลองขยับขยายมาสร้างห้องเอง ก็สามารถนำประสบการณ์ที่เคยได้รับ หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เห็นในแต่ละห้องมาปรับใช้ใน Session ของตัวเองได้อย่างดียิ่งขึ้น

4) การบ้านที่ดีช่วยเพิ่มความมั่นใจ

     คงไม่มีใครเป็นผู้พูดที่เก่งมาตั้งแต่แรก อาจจะด้วยความไม่มั่นใจหรืออะไรก็ตามแต่ในส่วนนี้ก็แก้ปัญหากันได้ โดยการทำการบ้านมาก่อนก็คือสิ่งที่จะช่วยแก้ไขในส่วนนี้ เจ้าการบ้านที่ว่าก็เริ่มตั้งแต่การมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่กำลังจะพูด หรือหากจะมาจากประสบการณ์ตัวเองก็ต้องเป็นประสบการณ์ที่จำความได้ดีและพร้อมที่ถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆ ดังนั้นการหาข้อมูลต่างๆ เพื่อมาเรียบเรียงก่อนที่จะนำมาเล่านั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้พูด และหากหากข้อมูลได้เยอะเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะแม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ในเรื่องที่เราเล่า แต่ก็สามารถเติมเต็มความรู้เพื่อใช้ตอบคำถามให้กับผู้ฟังที่สนใจเราได้อีกด้วย

     นอกจากเรื่องข้อมูลที่อาจต้องทำมาแน่นแล้ว อีกส่วนที่จะเพิ่มความมั่นใจกับเราได้ก็คือการหมั่นซ้อมก่อนที่จะมาพูด ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมให้คนอื่นฟัง หรือซ้อมกับตัวเองก็ตามแต่ อย่างน้อยๆ ก็เป็นการไล่เรียงสิ่งที่จะพูดออกไปว่ามีอะไรบ้าง ได้เป็นการลองจับเวลาดูว่าเราจะใช้เวลากับ Session ที่จะพูดมากน้อยขนาดไหน เมื่อซ้อมแล้วก็อาจลองอัดเสียงไว้เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขได้ก่อนที่จะเริ่มลงเวทีจริงๆ อีกด้วย

     แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องชวนน่าเบื่อกับการต้องมานั่งซ้อมอะไรแบบนี้ เพราะบางคนก็สามารถขึ้นไปพูดได้เลยโดยข้ามขั้นตอนเหล่านี้ได้ แต่ทั้งเพื่อความเป๊ะในช่วงต้นแล้ว ยังไงเราก็แนะนำในเรื่องข้อมูลและการซ้อมอยู่ดี ซึ่งเมื่อลงเวทีไปมากๆ จนเริ่มคุ้นชินแล้ว Process เหล่านี้ก็อาจจะหายไป สวนทางกับประสบการณ์ของเราที่มีมากขึ้นๆ เลย

Related posts
ดิจิทัลต้องรู้!สาระจุกๆ

รวมเทคนิค "เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์" ก่อนจะเป็นคนแพร่ข่าวปลอมไม่รู้ตัว

ดิจิทัลต้องรู้!ใต้โต๊ะดีไซน์เนอร์

เล่างานออกแบบให้ตรงกับความคิดด้วย Moodboard พร้อม 7 เว็บ สร้าง Moodboard เจ๋ง ๆ

ดิจิทัลต้องรู้!ใต้โต๊ะดีไซน์เนอร์

7 เทคนิคการเลือกใช้ฟอนต์ในงานออกแบบ

ดิจิทัลต้องรู้!ใต้โต๊ะดีไซน์เนอร์

ยกระดับสู่การเป็น "ฟรีแลนซ์มืออาชีพ" ต้องทำอย่างไร ไปดูกัน

Sign up for our Newsletter and
stay informed
[mc4wp_form id="14"]