การตลาดดิจิทัล

เศรษฐกิจไม่ดี แต่พี่ต้องรอด – How to เอาธุรกิจให้รอด เมื่อเงินขาดมือ

     
     จนถึงตอนนี้ทุกคนคงได้เผชิญกับสถานการณ์ของ เชื้อไวรัสโควิด-19 กันมาจะครบปีแล้ว ซึ่งก็อย่างที่หลายคนเห็นกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างมาก อีกทั้งด้วยเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานประกอบกับสถานการณ์ในทั่วโลกที่ยังดูไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไรนัก ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจหลาย ๆ เจ้าล้มหายตายจากกันไปเป็นแถบ ๆ
     ส่วนธุรกิจเล็ก ๆ ที่ยังเหลือก็น่าจะกำลังดิ้นรนปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังดูไม่มีท่าทีจะกลับมาในเร็ววัน แน่นอนว่าสิ่งที่หลาย ๆ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญก็น่าจะเป็นสภาวะเงินขาดมือ จากรายได้ที่หดหายแต่รายจ่ายยังวิ่งอยู่ แถมเกือบทุกรายก็ยังน่าจะมีเจ้าหนี้การค้าเป็นปกติด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วธุรกิจส่วนมากไม่ได้เจ๊งจากการขาดทุน แต่เป็นเพราะเงินไม่พอที่จะหมุนมาชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดมากกว่า วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมาดูกันว่า เราจะเอาธุรกิจให้รอดได้อย่างไร เมื่อถึงจุดที่ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้แล้ว

1) จัดลำดับความสำคัญของเจ้าหนี้ให้ดี และ Re Budget Plan ใหม่อีกครั้ง

    เริ่มต้นด้วยการกางบัญชีที่มีอยู่มาดู เพื่อตรวจสอบในเรื่องรายรับ-รายจ่าย และกระแสเงินสดของธุรกิจให้ละเอียด เพื่อพิจารณาว่าสถานการณ์การเงินในปัจจุบันเป็นอย่างไร รวมถึงลงรายละเอียดไปจนถึงรอบที่จะได้รับเงิน และรอบที่จะต้องชำระหนี้ให้เรียบร้อย

     เมื่อได้รายการหนี้ออกมาแล้ว ให้ระบุเจ้าหนี้รวมถึงภาระหนี้ที่ยังเหลือ และส่วนที่ต้องจ่ายในแต่ละรอบ ก่อนที่จะนำมาจัดอันดับ ต้นทุนทางการเงินหากมีการชำระล่าช้าของแต่ละเจ้าว่าเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เรารู้ว่าเจ้าใดที่มีความสำคัญจะต้องชำระก่อน ถ้าหากมีเงินไม่พอจริง ๆ จะได้เสียดอกเบี้ยที่น้อยสุดตามลำดับ

     ส่วนที่สำคัญต่อจากนี้คือ เมื่อพบว่าแล้วหากยังทำแบบเดิมต่อไปก็มีแต่ขาดทุนและเงินไม่พอ (เพราะแผนเดิมอาจจะเคยตั้งเอาไว้ในยุคที่มันรุ่งเรือง) ก็ควรถึงเวลาที่จะปรับแผนตั้ง Budget ใหม่ให้เรียบร้อย โดยต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเงินจริง ๆ ในตอนนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า รายได้ในปัจจุบันจะยังสามารถครอบคลุมในส่วนที่เป็น Fixed Cost หรือต้นทุนที่เลี่ยงไม่ได้ และเพียงพอต่อการชำระหนี้ที่จะเข้ามาในช่วงเวลาต่าง ๆ

2) ตัด ลด ค่าใช้จ่าย อะไรไม่จำเป็น และหาคนร่วมด้วยช่วยแชร์

     รัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดา Fixed Cost ทั้งหลาย อาทิ พวกค่าเช่า อาคารสำนักงาน ที่ในปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยให้เกิด Way of Work ใหม่ขึ้นมาแล้ว อย่างการ Work from home หรือ Work from anywhere ที่ทำให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นการลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าปรับในส่วนนี้ได้ พวกบรรดาอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นก็สามารถขายทิ้งเพื่อมาเป็นเงินหมุนเวียนเพิ่มเติมได้อีก

     นอกจากนี้วิกฤตนี้มันไม่ใช่แค่ธุรกิจเราที่เผชิญเพียงลำพัง แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจนั้นต้องมาร่วมก้มหน้ารับชะตากรรมไปด้วย การมองหาพาร์ทเนอร์ เพื่อมาร่วมหารค่าใช้จ่ายจากทรัพยากรต่าง ๆ อาจเป็นทางเลือกที่ควรเก็บไว้พิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันแล้ว ก็สามารถแชร์กันได้หลายอย่างเลย อาทิ ใช้สำนักงานร่วมกัน (กรณีที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้) การใช้หน้าร้านร่วมกัน ไปจนถึงตัวพนักงานเองก็สามารถเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรร่วมกันได้

3) หาทางปรับ Cash Cycle รับเร็วขึ้น จ่ายช้าลง

     หากคิดตามหลักการง่ายๆ ของ Cash Cycle ก็คือ [ช่วงขาย + ช่วงรับเงิน – ช่วงจ่ายเงิน] ตัวอย่างเช่น ช่วงที่ขายใช้เวลา 3 และลูกค้าเอาเงินมาจ่ายเงินเราใน 10 วัน แต่เรามีเวลาไปจ่ายเงินเจ้าหนี้ในช่วง 20 เมื่อคำนวณออกมาก็จะได้ 3+10-20 = -7 นั่นหมายถึงว่า เราจะมีเวลาหมุนเงินได้อีก 7 วันนั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสูตรคำนวณนี้ ถ้าเราอยากมีเงินหมุนเร็ว ก็ปรับได้จากตัวแปร

  1.  ลดระยะเวลาที่รับเงิน
       อันที่จริงมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะใคร ๆ ก็อยากที่จะจ่ายเงินช้าขึ้น ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญกับอำนาจการต่อรองของธุรกิจขนาดใหญ่ ก็ดูท่าจะเป็นเรื่องยากกับการขอต่อรองขยายเวลา แต่ทั้งนี้การเปิดใจเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของธุรกิจตามตรง ก็อาจมีลุ้นอยู่ไม่น้อย หรือจริง ๆ แล้วอีกวิธีที่ควรใช้เมื่อจำเป็นต้องมีเงินมาหมุนเวียนจริง ๆ ก็คือ การกำหนดส่วนลด เมื่อจ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น รอบจ่ายอยู่ที่ 20 วัน ถ้าจ่ายภายใน 10 วันจะลดค่าสินค้าได้สัก 2% ก็น่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจได้มากขึ้น

  2.  เพิ่มระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงิน
       ไม่ต่างอะไรกับการไปขอลดระยะเวลาจากลูกหนี้ ในส่วนนี้ก็อย่าไปอายที่จะต้องต่อรองกับเจ้าหนี้เช่นกัน ถึงการขอขยายเวลาในการชำระจากสภาพธุรกิจที่ไม่อำนวย โดยเฉพาะกับเจ้าหนี้ที่เป็น Supplier ควรต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่มีกันมาในการต่อรองเงื่อนไขเหล่านี้ หากเป็นเจ้าหนี้ประเภทอื่น ๆ อย่างธนาคาร หากต่อรองไม่ได้และจะเป็นหนี้ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูง ก็ควรมองหาทางที่จะ Refinance เพื่อหาเจ้าที่ดอกเบี้ยถูกกว่ามาชำระเจ้าที่ดอกเบี้ยแพงกว่าให้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนที่จะเกิดในอนาคตลง

4) ปรับ Strategy ดันยอดขาย ให้มีเงินมาหล่อเลี้ยง

     จัดการเจ้าหนี้ก็แล้ว ลดต้นทุนก็แล้ว อยากให้ลองกันอีกสักตั้ง! กับการวางแผนใหม่ในการเพิ่มยอดขายให้ได้มากกว่าเดิม โดยเริ่มต้นลองคิดต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่แล้วให้พยายามแตกไลน์เพิ่มไปสู่สิ่งใหม่ ๆ โดยที่ยังใช้ทรัพยากรเดิมที่มีได้อยู่ (เพื่อไม่ให้ต้นทุนเดิมเพิ่มขึ้นสูงอีก) และขยับขยายไปสู่การขาย หรือให้บริการที่ได้มากขึ้น จากการปรับ Product เพื่อเข้าหา Segment ของลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกสักกลุ่ม สองกลุ่ม เพื่อดึงดูดให้เกิดฐานลูกค้าที่มากกว่าเดิม

     หรือจะเป็นแนวทางอื่น ๆ ในการเพิ่มยอดขาย อาทิ การใช้ Social Media ให้เกิดประโยชน์ ในการโปรโมท ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ประกอบควบคู่ไปกับการจัด Promotion ลดราคา เพื่อให้มีเงินไหลเวียนเข้ามาให้อยู่รอดได้ในช่วงนี้ ก่อนที่จะกลับไปสู่ Value เดิมของธุรกิจเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกลับสู่สภาวะที่เป็นปกติไปแล้ว

Related posts
การตลาดดิจิทัล

Cloud Kitchen แนวทางต่อลมหายใจ เมื่อร้านอาหารไม่มีหน้าร้านแล้ว

การตลาดดิจิทัล

"Momketing การตลาดฉบับคุณแม่" กระตุ้นต่อมซื้อมนุษย์แม่ยุคใหม่ ทำได้อย่างไร?

การตลาดดิจิทัลดิจิทัลต้องรู้!

6 หนังสอนธุรกิจชั้นดีในยุคใหม่ ที่เจ้าของกิจการควรหาโอกาสดู

การตลาดดิจิทัลดิจิทัลต้องรู้!

"เล่นไอจีให้มีรายได้" เทรนด์สร้างเงินสุดฮิตบน Instagram ในปี 2021

Sign up for our Newsletter and
stay informed
[mc4wp_form id="14"]