การตลาดดิจิทัลวิเคราะห์การตลาด

รู้จักพี่หญิงลี ผ่านมุมมองการตลาด เมื่อ Beauty Standard ไม่จำเป็นสำหรับ Influencer อีกต่อไป

     ไหว้สา วันนี้จะพารู้จัก “พี่หญิงลี” หรือ “พระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์” ผ่านมุมมองการตลาดนะน้องนะ เมื่อ Beauty Standard ไม่จำเป็นสำหรับ Influencer อีกต่อไป เราได้อะไรจากแม่ผ่านแบรนด์ดิ้งบ้างไปดูกัน

     นับว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ กับกระแสความปัง ของพี่หญิงลี หรือ พระมหาเทวีเจ้า ที่เหล่าเยาวรุ่นทั้งหลาย แห่ไปต้อนรับกันอย่างเนืองแน่นจนห้างแทบแตก ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์
 
     เพราะที่ผ่านมากับดาราไทยเอง เราอาจจะยังไม่ได้เห็นการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งได้มากขนาดนี้ แต่สำหรับเธอคนนี้ในฐานะ Influencer บนโลกออนไลน์ เธอกลับทำมันออกมาได้อย่างน่าสนใจ และกระไม่หยุดแค่ในโลก Social เท่านั้น ยังขยายไปถึงสำนักข่าวต่างๆ
 
     รวมไปถึงล่าสุดในรายการโหนกระแสของคุณหนุ่มกรรชัย ที่ก็ยังทนต่อกระแสไม่ไหว ต้องเชิญมาคุยกันให้รู้แล้วรู้รอด จนติด Trend ฮิตใน Twitter ไหลแรงไปอีก ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้คงไม่ได้มีบ่อยนัก (หรือว่าบ่อยกันนะ 555+) จนมีหลายแง่มุมที่เราอยากจะพาไปถอดบทเรียนมากๆ ว่า กระแสอันโด่งดังนี้ ให้อะไรกับเราบ้าง
 

รู้จักกับ พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์

     พี่หญิงลี หรือ คุณชาติ ชื่อจริง บุหงาวลัย คงขวัญ เป็นชาวปัตตานี ไม่ใช่คนที่เพิ่งดัง แต่อยู่ในวงการโซเชียลมาแล้วมากกว่า 6-7 ปีด้วยซ้ำ โดยเริ่มต้นมาจากการทำคลิปตลก ง่ายๆ นี่แหละ โดยฉากหลังที่ใช้บ่อยๆ ก็คือร้านทำผมของเพื่อนสนิทที่มืชื่อว่า ทิพย์ เพราะพี่หญิงลีมีจุดเด่นในคลิปอยู่อย่างก็คือการที่ไปนั่งหนีบผมอยู่ทุกวัน (แม่ชอบให้ผมตรงสลวยอยู่ตลอดเวลา และนี่ก็คงเป็นจุดเด่นแรกที่สร้างภาพจำของเธอนั่นเอง) ไปพร้อมกับการวีนนู่นนี่ วีนไปจนถึงคนคอมเมนท์ หรือคนที่เข้ามาดูด้วยซ้ำ แต่ความที่มันเป็นการวีนที่เราขำในจริตมากกว่าที่จะรู้สึกโดนด่าแรงๆ ก็เลยทำให้คนดูก็เริ่มเข้ามาให้แม่วีนกันมากขึ้น จนไวรัลด้วยคลิปหนึ่งที่เธอวีน ขึ้นมา และช่างทิพย์ก็พูดขึ้นมาว่า “เจ๊อย่าวีน” จนกลายเป็นคำพูดสุดฮิตติดปากของบรรดา LGBT หรือสาวๆ ที่ชอบจริตของคู่นี้อยู่แล้ว

     นอกจากนี้การพี่หญิงลีเป็นคนที่ชอบอั้ม พัชราภามาก (ตามที่บอกเอาไว้ในการสัมภาษณ์กับพี่หนุ่ม กรรชัย) จึงตามติดละครเรื่อง เพลิงพระนาง และทำการคัฟเวอร์เป็นตัวละคร พระมหาเทวีเจ้าเสกขรเทวี ในเรื่อง และเมื่อออกมาคัฟเวอร์บ่อยๆ เล่นใหญ่เว่อร์ๆ ก็เลยกลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำที่ทำให้เธอเริ่มมีชื่อเสียงและคนติดตามขึ้นมากในนามของ พระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์ ที่บรรดาแฟนคลับนั้นทำการตั้งให้ ซึ่งด้วยชื่อเสียงที่เข้ามา พร้อมกับการผลิตคอนเทนท์ที่มีกลุ่มหมายแน่ๆ ละ ก็เลยเปิดเพจ Facebook ที่มีชื่อว่า Veen (ที่หมายถึงอาการ “วีน” อันเป็นจุดเด่น) ของตัวเองขึ้นมา จนมีทั้งแฟนคลับทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ล้วนติดตามกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนตอนนี้ยอด Follow ก็สูงถึงเกือบ 6 แสนคนแล้ว ซึ่งก็นับได้ว่าเยอะมาก อีกทั้งก็ยังมี Sponsor เข้าเพจเต็มไปหมด จากการที่เห็นเธอมีรีวิวสินค้าใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอไม่ขาดมือ

     เราจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งที่เธอได้ทำมานั้นมันก็คือหลักการ Branding ทั้งนั้นในการสร้าง Brand Identity สร้างตัวตน (การเป็น พระมหาเทวีเจ้าเสกขรเทวี) สร้าง Background ของเรื่องราว (อย่างเมืองทิพย์) สร้าง Story (จากการใช้พี่ทิพย์มาร่วมต่อบทต่างๆ) จนสุดท้ายเรามาเห็นผลของการทำ Brand ทั้งหมดเป็นภาพชัดขึ้น ก็ตอนที่เธอประกาศว่าจะมาทำงานบางอย่างในกรุงเทพนี่แหละ ที่ทำให้ชาวแฟนๆ นั้นก็เตรียมต้อนรับกันเป็นอย่างมากตั้งแต่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ยันไปถึงพารากอน ก็ยังมีคนไปรอรับกันอยู่จนห้างแทบแตก โดยหลายๆ คนต่างเข้าไปขอถ่ายรูป และนำดอกไม้มาให้ ทำให้เป็นปรากฏการณ์ที่หลายสำนักข่าวยังต้องออกมาพูดถึงกระแสในความโด่งดังครั้งนี้ ที่มากกว่าดาราหลายๆ คนเสียอีก เราลองมาดูกันต่อว่า “อะไร” ที่ทำให้เธอดังถึงเพียงนี้

แกะความปังปุริเย่ของ “พระมหาเทวีเจ้า”

     จริงๆ แล้ว พี่หญิงลี นั้นก็ไม่ใช่คนแรกในโลกโซเชียลที่โด่งดังมาจากความไวรัลที่มาจากการสร้างสรรค์คอนเทนท์ และสร้างสรรค์ตัวเองให้กลายมาเป็น Personal Brand จากความอารมณ์ดี ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คน เพราะที่ผ่านมา ก็จะมีทั้ง หนูรัตน์ ธิดาพร หรือ แม่สิตางศุ์ ส้มหยุดมาแล้ว ซึ่งหากเราจะมองจุดร่วมกันของคนกลุ่มนี้ ก็คือการทำ Personal Branding นั่นเอง

1) สร้างความ “แตกต่าง” จนเป็นเอกลักษณ์

     เราจะเห็นได้ว่าทุกคนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก และยากที่จะให้คนอื่นๆ ที่ตามมาที่หลังเลียนแบบในความเป็นตัวเองแบบนี้ได้ ซึ่งการขายขำ ขายความน่ารักจากบนคาแรคเตอร์ของพวกเขานี่แหละที่กลายเป็นจุดแข็ง ที่ทำให้ทุกคนจดจำพวกเขาได้ง่ายขึ้น

     ซึ่งแม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกและคอนเทนท์ของพวกเขาจะสื่อไปถึงความตลก อารมณ์ดี ขายขำตลอด แต่หากสำรวจลึกลงไปอีก เราจะเห็นว่าแท้จริงแล้วการขายขำนั้นอาจเป็นเรื่องรองที่คนมาติดก็ได้ เพราะจุดร่วมอีกอย่างของแต่ละคน เราจะเห็นว่าทุกคนมีเบื้องหลังในชีวิตที่ผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย ทั้งการไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมในช่วงนึง การโดนบูลลี่ หรือเหยียดอะไรต่างๆ นานา 

     รวมถึงสตอรี่อื่นๆ ที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาให้คนค่อยๆ รับรู้ และรู้จักพวกเขามากขึ้น ก็เริ่มยอมรับในตัวตนจริงๆ และเห็นใจกับอดีตที่ผ่าน ไปจนถึงการพร้อมที่จะสนับสนุกพวกเขาต่อไปในอนาคตอีกด้วย เราว่านี่ต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญ ของความ “แตกต่าง” และสร้าง “คาแรคเตอร์” ที่มีความใกล้ตัว จนผู้คนเข้าถึงได้พวกเขาได้มากกว่าการกรี๊ดดาราที่บางทีก็รู้สึกว่าสังคมมันต่างกันเกินไป

2) การครีเอทคำนำเทรนด์

     คำพูดติดปากของผู้คนใหม่ๆ  หรือคำที่มักถูกใช้ในโลก Social ส่วนมากนั้น ไปต้องไปตามหาที่ไหนให้ไกลตัว เพราะผู้คนที่ประดิษฐ์ประดอยคำเหล่านี้ขึ้นมาก ก็คือบรรดา Influencers กลุ่มนี้แหละที่คอยสรรสร้างคำใหม่ๆ ให้ผู้คนเอามาใช้ด้วยกันอยู่เสมอ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปกติของทุกยุคทุกสมัย ที่จะมีคำแสลงออกมา เพื่อหนีความจำเจในการใช้คำเดิมๆ และเพิ่มลูกเล่นในการสื่อสารได้สนุกปากมากยิ่งขึ้น

     ซึ่งในส่วนนี้พอมีคนติดตาม ได้รับฟังบางคำ (ที่บางทีก็ดูไม่เป็นคำสักเท่าไรหรอก 5555+) จาก Influencer “ไหว้สา” (แปลว่า สวัสดี ใช้ในการทักทาย), “นะน้องนะ” (แปลว่า โอเคนะ ใช้ตอนตกลงกัน) หรืออย่างคำว่า “ทิพย์” (แปลว่า ไม่มีจริงหรือปลอม”) ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากๆ ในคนบางกลุ่ม ที่ต้องการแซวเพื่อนว่ายังไม่มีแฟน ก็อาจเรียกได้ว่า “ผัวทิพย์” เป็นต้น

     หรืออย่าง สิตางศุ์ เองก็จะมี “ส้มหยุด หยุดโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น” เป็นประโยคประจำตัวของเธอ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพอมีคำเหล่านี้ ก็ก่อให้เกิดการที่คนนำไปใช้ พอคนฟังไม่เข้าใจก็ไปสืบเสาะจนเจอ Influencer เหล่านี้ แล้วก็ถูกใจจนเอามาใช้บ้างเป็นแบบนี้ต่อไปเป็นทอดๆ จนโด่งดังกัน

3) การตอกย้ำภาพลักษณ์ซ้ำๆ

     เราจะเห็นได้ว่าน้อย Influencer ที่จะเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะมันจะทำให้คนอื่นๆ จำไม่ได้ การทำซ้ำๆ จึงเป็นเหมือนการตอกย้ำภาพลักษณ์ลงไปเรื่อยๆ ให้คนจำได้ เช่น พี่หญิงลีเอง ก็มีคาแรคเตอร์ในการวีนเก่ง มาโดยตลอด และวีนไปเรื่อย เปิดมาทีไรก็วีน หรือตอนไปคัฟเวอร์เป็นตัวละคร ก็เป็นอยู่ไม่กี่อย่าง โดยที่โดดเด่นที่สุดก็คือ พระมหาเทวีเจ้าเสกขรเทวี ที่วนอยู่อย่างนั้น หรือเวลาเต้นเธอก็เต้นอยู่ไม่กี่เพลง 

     จนเหมือนหลักการหนึ่งในการตลาดๆ ที่พยายามฝังหัวคนแบบ เบาๆ ถี่ๆ คือมาไม่แรงนะ แต่มาบ่อยๆ ถ้าหากนึกตัวอย่างไม่ออกลองนึกถึงเพลงของแบรนด์หนึ่งที่ร้องว่า “กินอะไร กินอะไร ไปกิน MK” จุดนี้ที่มันฝังหัวเรามาตลอดเวลามีคำถามว่าจะไปกินอะไร ภาพ MK ก็ลอยมาเป็นอีก 1 ตัวเลือกเสมอ ซึ่งของหญิงลีก็ไม่ต่างกัน เพราะเมื่อคนดูเริ่มดูไปซ้ำๆ ย้ำภาพลักษณ์ลงไปในหัว เมื่อนึกถึงคำด่าเหล่านี้ ก็นึกถึงหญิงลี เมื่อนึกถึงละครเพลิงพระนาง ก็นึกถึงหญิงลี หรือเมื่อนึกถึงเพลงที่หญิงลีเต้น ก็นึกถึงหญิงลี อีก จึงไม่แปลกใจนักหากคนเหล่านี้จะถูกจดจำได้อย่างรวดเร็ว เพราะหลักการที่ว่านี้

Social Media ปฏิวัติวงการ Influencer Online

     ที่ผ่านมาวงการ “สื่อ” อาจเป็นตัวกำหนดให้ใครกลายเป็นคนที่โด่งดัง หรือใครจะกลายเป็นคนที่มีอิทธิพลมีบทบาทต่อสังคม และโดยส่วนมากก็มักจะเป็น ดารา เซเลบ ที่มีบุคลิกดีหล่อสวย และโฟกัสที่ส่วนนั้นเป็นหลัก โดยสื่อก็จะยิ่งเป็นตัวตอกย้ำว่าบรรทัดฐานต่างๆ เหล่านี้อยู่ช่วงหนึ่ง ในขณะเดียวกันเมื่อโลกโซเชียลเข้ามา ก็เริ่มมองหาตัวอย่างที่เป็นคนธรรมดาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเริ่มมองถึงคุณค่าภายในมากกว่าที่จะมองจากภายนอก 

     ส่วนนึงเป็นเพราะบรรทัดฐานของโลกก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากที่มีกรอบเป็นตัวกำหนดเรื่องความสวยความงาม โลกก็เริ่มยอมรับในความแตกต่างมากขึ้น จนเลิกมองความสวยเป็นสิ่งขึ้นหิ้งไปแล้ว แต่มองหาคาแรคเตอร์อื่นๆ ที่จริงใจ สัมผัสได้ และเข้าถึงได้ เหมือนอย่างแบรนด์แฟชั่น และความสวยความงาม หลายๆ แบรนด์ที่เริ่มเข้าใจ insight มากขึ้น และปรับแนวทางตัวเองเช่นกัน เช่น บางแบรนด์ที่เลิกพูดถึงความขาวกระจ่างใจ และเอาคนผิวคล้ำมาเทียบกันแล้ว หรือแบรนด์ชุดชั้น Wacoal ในช่วงที่ผ่านมาก็พูดถึง Beauty Inside โดยการเอานางแบบหลายๆ คนที่ไม่มีความสมบูรณ์แบบ แบบที่หลายแบรนด์อื่นๆ ทำ และชูเรื่องความสวยภายใน และคุณค่าในตัวเองกันหมดแล้ว

     ทำให้ในยุคต่อไปหลังจากนี้ คุณค่าในการมอง Influencer ก็คงต้องเปลี่ยนไป และอาจเน้น insight เข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น อีกทั้งการลด Beauty Standard ก็น่าจะช่วยให้เข้าใกล้ความเท่าเทียมที่คนเลือกเกิดไม่ได้ ทั้งจากหน้าตาและรูปลักษณ์ภายนอก และมองเห็นถึงคุณค่าภายในของผู้คน ไปจนถึงการยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่าง ที่อาจมีมากขึ้นอีกในอนาคต จนอาจทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปนับต่อจากนี้ก็ได้

Related posts
การตลาดดิจิทัล

Cloud Kitchen แนวทางต่อลมหายใจ เมื่อร้านอาหารไม่มีหน้าร้านแล้ว

การตลาดดิจิทัล

"Momketing การตลาดฉบับคุณแม่" กระตุ้นต่อมซื้อมนุษย์แม่ยุคใหม่ ทำได้อย่างไร?

วิเคราะห์การตลาด

"Netflix Shop" ก้าวต่อไปของ Streaming สู่การขายสินค้าสุด Exclusive ผ่านช่องทางของตัวเอง

วิเคราะห์การตลาด

เมื่อแบรนด์ขอสู้โควิดด้วย "แคมเปญวัคซีน" การพลิกเกมที่ได้ยิ่งกว่าโอกาส

Sign up for our Newsletter and
stay informed
[mc4wp_form id="14"]