วิเคราะห์การตลาด

“Netflix Shop” ก้าวต่อไปของ Streaming สู่การขายสินค้าสุด Exclusive ผ่านช่องทางของตัวเอง

หากพูดถึง Streaming อันดับต้นๆ ที่หลายคนมีติดบ้านกันในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้น Netflix อย่างแน่นอน ซึ่งด้วยความสำเร็จของ Netflix นั้น ก็ไม่แปลกใจนักถ้าจะมีเจ้าอื่นๆ อีกมากมายตามมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น HBO Max, Disney +, Amazon Prime, Hulu รวมถึงเจ้าอื่นๆ ที่มีความเฉพาะทางของตัวเอง จนทำให้แต่ละเจ้านั้นคงต้องลงมาแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงเวลาของคนดูและเงินค่าสมาชิกรายเดือนไปให้ได้มากที่สุด ผ่าน Content แบบ Exclusive ของตัวเอง ว่าใครจะมี Original Content ในแบบหาดูที่อื่นไม่ได้ที่เจ๋งกว่ากัน 

แต่ในขณะที่แข่งขันกันอยู่นั้นทาง Netflix เองก็เพิ่งจะพาตัวเองก้าวออกมาจากจุดนั้น และหาทางสร้างรายได้เพิ่มเติมในแบบที่เจ้าอื่นก็ยังคิดไม่ถึง ด้วยการเปิดตัว Netflix Shop ขึ้นมา เพื่อขายสินค้าแบบ Exclusive จากหนังหรือซีรี่ส์ ที่เป็น Original Content ของตัวเอง ซึงนับว่าเป็นไอเดียที่ฉลาดมากๆ สำหรับการสร้างเพิ่มรายได้นอกจากค่าสมาชิก ไปสู่สินค้าลิขสิทธิต่างๆ นานา ที่สามารถผลิตออกมาได้หลายรูปแบบนับไม่ถ้วน และยิ่งคนใช้เยอะเท่าไรก็ยิ่งเป็นการโปรโมทแบรนด์ตัวเองไปในตัวอีก วันนี้ Uppercuz เลยอยากพาผู้อ่านมาสำรวจในโลกของ Netflix Shop ให้มากขึ้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วจะรุ่งหรือไม่กับแนวทางนี้

จุดเริ่มต้นไอเดียร้านค้าของ Netflix

จริงอยู่ที่การนำลิขสิทธิ์ของคอนเทนท์มาขายเป็นสินค้าต่างๆ อาจดูไม่ใช่เรื่องใหม่ๆ และเหมือนหลายๆ แบรนด์ก็มีการทำกันมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่าง Disney เองก็มีสินค้าจากคอนเทนท์ตัวเองอยู่มากมาย ทั้งจาก Star Wars, Marvel หรือบรรดาเจ้าหญิงของตัวเองมาเป็นสินค้าที่ขายมาได้อยู่เสมอ จึงไม่แปลกใจนักหาก Netflix จะเลือกแนวทางนี้ตามมา เพราะ Netflix เองก็เริ่มเล็งเห็นถึงปัญหาการเติบโตที่ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการทะยานเติบโดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนรายได้จากการสมัครสมาชิกรายเดือนก็เริ่มมาถึงทางตันแล้ว

ทาง Netflix จึงต้องพยายามคิดหาวิธีเพิ่มรายได้ช่องทางอื่นขึ้นมา ซึ่งในตอนนั้นก็ได้ Josh Simon มาคุมในหน่วยงาน Consumer Products (สินค้าสำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเขาเองก็เคยทำงานในส่วนที่คล้ายกันให้กับ Nike จนประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ทำให้ Netflix ได้ไปดีลกับ Walmart, Amazon และ Sephora เพื่อเป็นแหล่งขายสินค้าจากภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีอยู่ จนสุดท้ายก็ได้ติดกับบริษัท Shoptify เพื่อให้มาทำเว็บไซต์ให้เพื่อขยับขยายมาสู่ตลาดออนไลน์บนเว็บไซต์ของตัวเองอย่างเต็มตัว

มีอะไรใน Netflix Shop

หากใครที่สนใจผลิตภัณฑ์จาก Netflix ก็สามารถ เข้าไปเลือกชม และเยี่ยมเยียนกันได้ที่ https://www.netflix.shop/ ซึ่งจากที่ร้านเพิ่งเปิดตัวมาในสัปดาห์ก่อน (วันที่ 10 มิถุนายน 2021) ในตอนนี้อาจจะมีสินค้าไม่เยอะมากนัก โดยจะเป็นเสื้อยืดจาก Animation ใน Netflix อย่าง “Eden & Yasuke” ที่ถูกนำมาใส่เป็นลายของเสื้อจากดีไซเนอร์อย่าง Nathalie Nguyen ซึ่งในช่วงสิ้นเดือนก็มีการออกสินค้าจากซีรี่ส์ฝรั่งเศสที่ได้รับความนิยมมากๆ ในตอนนี้อย่าง Lupin ที่เพิ่งจะฉายซีซั่น 2 กันไป โดยจะมีทั้งหมวกเบสบอล, เสื้อยืด, เสื้อกันหนาว ที่ใส่ความเป็น Lupin ลงไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนไปถึงซีรี่ส์ดังของทางค่ายที่เป็นนิยมอย่าง Stranger Thing, Money Heist และ Bridgerton ออกตามมาอย่างแน่นอน ในรูปแบบของสินค้าที่หลากหลายต่างก้ันออกไป และบอกเลยว่าราคาที่ตั้งขึ้นมานั้นไม่ได้ถูกเลย เพราะขนาดเสื้อยืดที่เห็นในเว็บไซต์นั้นยังมีราคาสูงถึงตัวละ $45 หรือคิดเป็นเงินที่ประมาณเกือบ 1,400 บาทเลยทีเดียว ซึ่งการที่ Netflix กล้าทำสินค้าออกมาขายเช่นนี้ ก็เพราะเล็งเห็นถึงความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหญ่ ที่ต่างซื้อสินค้าจากภาพยนตร์หรือหนังที่พวกเขาชอบจากบรรดาร้านค้าที่ทำ Fan-Made อยู่แล้ว เลยตัดสินใจทำเองย่อมดีกว่าที่จะถูกรายอื่นๆ ละเมิดลิขสิทธิตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่เงินก็ไมไ่ด้เข้ากระเป๋าแต่อย่างใด

ก้าวต่อไปของสินค้า Netflix

ด้วยแฟนคลับจำนวนมหาศาลของคอนเทนท์แต่ละเรื่อง ร้านค้าของ Netflix น่าจะมีโอกาสไปได้อีกไกลอย่างแน่นอน เพราะในตอนนี้ทาง Netflix ก็เริ่มมีการเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์และดีไซเนอร์คนดังต่างๆ นานา เพื่อทำ Brand Collaboration คือร่วมมือกันเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะออกสินค้าออกมาให้ได้มากที่สุด อย่างซีรี่ส์รักวัยรุ่นชื่อดังอย่าง To All the Boys I’ve Loved Before ก็มีทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากแบรนด์ H&M มีเครื่องสำอางค์ร่วมกับ Sephora กันไปแล้ว คิดว่าอนาคตเราน่าจะได้เห็นสินค้าจากภาพยนตร์ดี ซีรี่ส์ดังออกมาอีกหลายอย่างแน่นอน

ซึ่งแม้ว่ารายได้จากการขายสินค้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้มากถึงค่าสมาชิกที่ Netflix เองทำได้ แต่การทำเช่นนี้จะทำให้ Netflix มีความสัมพันธ์ที่ดีกับวงการแฟชั่นและสินค้าประเภทต่างๆ ได้อีกมากมาย และตรงนี้แหละที่จะมีส่วนในการขยายอาณาจักรของธุรกิจจาก Streaming ไปสู่ด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย ทำให้ตอนนี้ Netflix เองก็ยังไม่คิดที่จะลงทุนเปิดหน้าร้านตัวเองก่อน เพราะมองว่ามีช่องทางกระจายสินค้าทั้งจากพาร์ทเนอร์ และออนไลน์ที่ดีพออยู่แล้ว

ปลายทางนี้จะไปรอดหรือไม่?

นับเป็นก้าวที่เรียกได้ว่าน่าสนใจ สำหรับแนวทางของ Netflix ที่จะเป็น Retail Store หรือร้านขายของออนไลน์นี้ เพราะแน่นอนว่าหนังและซีรี่ส์แต่ละเรื่องของ Netflix นั้น มีฐานแฟนคลับ และยอดผู้ชมเป็นจำนวนมาก ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาทราบได้ว่า ใน Content แต่ละเรื่องนั้นกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาเป็นใคร และใช้เวลาไปกับการดูคอนเทนท์เหล่านี้มากมายขนาดไหน ทำให้ Netflix เองก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ได้อย่างละเอียดยิบ ก่อนที่จะเริ่มต้นออกสินค้ามาสักตัวด้วยซ้ำ ส่งผลให้พวกเขามีข้อได้เปรียบที่จะเข้าใจตลาดและกลุ่มผู้บริโภคอย่างแน่นอน

แต่ก็ไม่ใช่ว่าแนวทางนี้จะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะต้องอย่าลืมว่ากระแสภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ต่างๆ ของ Netflix นั้น ออกมาในรูปแบบของ Seasonal จะมีไม่กี่เรื่องที่คงความเป็นอมตะเอาไว้ ทำให้สินค้าต่างๆ ที่ปล่อยออกมานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทำการตลาดในช่วงที่คอนเทนท์เหล่านั้นกำลังเป็นกระแสมากๆ เพราะหากมันฉายจบไปแล้ว หรือกระแสดับไป สินค้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมนัก และอาจจะต้องรอ Season ถัดไปมาฉาย ถึงจะได้กลับมารับความนิยมอีกครั้ง แต่อย่างบางเรื่องยิ่งถ้าโดนตัดจบไปอีกสินค้าเซตนั้นอาจกลายเป็นหมันเป็นเลยก็ได้

ทำให้ Netflix จึงอาจต้องพิจารณาให้ดีถึงการออกสินค้าแต่ละอย่างจากคอนเทนท์แต่ละเรื่อง เพราะด้วยลักษณะของสินค้าในรูปแบบที่มาแล้วก็ไปแบบนี้ อาจทำให้สู้เจ้าอื่นๆ ที่อาจจะออกมาแข่งขันในอนาคต อย่างเช่น Disney + ที่เป็นเจ้าตลาดของ Merchandise ภาพยนตร์ต่างๆ ในมือตัวเองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Star Wars, Marvel หรือเจ้าหญิง Disney ต่างๆ ที่จะเห็นได้ว่า จักรวาลเหล่านี้มีความแข็งแกร่งกว่า ทั้งในเรื่องความอมตะที่อยู่ข้ามมาหลายยุคหลายสมัย ที่ไม่ว่าจะผ่านไปเท่าไรก็ยังคงเป็นที่นิยมมาโดยเสมอ จนนับได้ว่าแม้จะคิดแนวทางนี้มาได้ แต่ก็แข่งขันกันเหนื่อยต่อไปจริงๆ

กรอกเมลทิ้งไว้สิคะ เราจะส่งบทความดีๆ ให้อ่านก่อนใคร ❤️

Related posts
วิเคราะห์การตลาด

เมื่อแบรนด์ขอสู้โควิดด้วย "แคมเปญวัคซีน" การพลิกเกมที่ได้ยิ่งกว่าโอกาส

วิเคราะห์การตลาด

ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง เริ่มต้นใช้ Outsource ง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอน

วิเคราะห์การตลาด

ส่องเทรนด์ธุรกิจ Plant-based Food : ถ้า “เนื้อสัตว์" ที่เรากินไม่ได้มาจากสัตว์อีกต่อไป

วิเคราะห์การตลาดสาระจุกๆ

Generalized หรือ Specialized โลกการทำงานยุคนี้ต้องการคนแบบไหน?

Sign up for our Newsletter and
stay informed
[mc4wp_form id="14"]