Generalized Vs Specialized ต่างกันอย่างไรบ้าง?
ด้วยความที่คนทั้งสองประเภทก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน เราเลยอยากจะพามารู้จักกับพวกเขากันก่อนว่า ลักษณะในการทำงานเบื้องต้นของพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง
Generalized - คนที่มีความสามารถ มีทักษะและความรู้ในแนวกว้าง
สำหรับคนกลุ่มนี้นั้น จะเป็นคนที่มีความรู้ที่กว้างขวาง ซึ่งคำว่ากว้างในทีนี้อาจไม่ได้หมายถึงกว้างแบบรู้ไปเรื่อย แต่เป็นการรู้เรื่องเป็นอย่างดีในสายงานหลักของตัวเอง ว่ามีตำแหน่งหน้าที่อะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง แม้ว่าตัวเองนั้นอาจจะไม่เชี่ยวชาญในระดับลงลึกได้ทุกเรื่องก็ตาม
แต่ความรู้ที่มีก็สามารถช่วยให้พวกเขาแก้ปัญหาเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะรู้ว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับอะไร และแก้ไขได้อย่างไร จากการคอยรับข้อมูลข่าวสารใหมๆ่ ที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพอยู่เสมอ พวกเขาจึงพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวไปยังสายงานที่ใกล้เคียงกัน โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก
ตัวอย่างก็เช่น ในสายงานอาชีพของนักการตลาดนั้น คนที่เป็น Generalist นั้น ก็จะมีความรู้ในหลายๆ อย่าง เช่น สามารถทำแบรนด์ได้, สามารถทำโฆษณาเป็น, มีความรู้ด้าน Digital Media ต่างๆ ไปจนถึงการออกแคมเปญให้กับธุรกิจ อะไรแบบนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ลงรายละเอียดลึกมากๆ (แต่ในบางงานก็ต้องลงลึก ตามสายเหล่านี้อยู่เหมือนกัน)
Specialized - คนที่รู้ลึก มีความสามารถเชี่ยวชาญในเรื่องเฉพาะทางมาก
สำหรับคนกลุ่มนี้อาจมีเรื่องที่ถนัดไม่มาก อาจจะมีแค่ 1-3 อย่างที่ถนัดพอที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ พวกเขาจึงสามารถแก้ปัญหาที่ยากๆ และปัญหาเชิงลึกเฉพาะทางได้เป็นอย่างดี จากความสามารถเฉพาะตัว ที่อาจเป็นได้ทั้งการทำงานได้ดีกว่าคนอื่น หรือรวดเร็วกว่าคนอื่นก็ตาม
ในแง่ของรายได้นั้น มีโอกาสที่พวกเขาจะเรียกค่าตัวได้สูงกว่าคนอื่น ด้วยความสามารถที่ไม่เหมือนใคร ที่เสมือนเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งในความรู้และประสบการณ์ที่มากกว่าคนอื่นๆ จนนับเป็นข้อได้เปรียบในการต่อรองเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น ในสายงานของอาชีพช่างภาพนั้น อาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แตกแขนงต่างกันไป เช่น บางคน อาจมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากในการถ่ายรูปแต่งงาน พรีเว้ดดิ้ง เพราะสามารถหามุมมองและความสวยงามในตัวคน ได้มากกว่าการถ่ายภาพอย่างพวกวิว หรือบรรยากาศ ที่อาจไม่ถนัดเอาเสียเลย
แล้วฉันคือคนแบบไหนต้องดูจากอะไร ปัจจัยที่ควรนำมาคิดก่อนตัดสินใจ
การเลือกที่จะไปสักสายใดสายหนึ่งในการทำงานนั้น จริงๆ แล้ว ก็ไม่ไร้กฏเกณฑ์ในการเลือกสักทีเดียว เพราะที่จริงแล้วมันยังพอที่จะมีปัจจัยบางอย่างที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า เราจะเป็นคนทำงานสายไหน ซึ่งจะมีอะไรบ้างลองมาดูกัน
1. ความพอใจจากนิสัยส่วนตัว
อันนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เราทำในสิ่งที่ฝืนกับที่ตัวเองเป็น เพราะอันดับแรกเราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าเรา เป็นคนแบบไหน เพราะลักษณะของงานก็ต่างกันออกไป อย่างคนที่เป็นคนขี้เบื่อ หรือไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ แล้ว น่าจะมีความพึงพอใจกับในงานประเภท Generalized มากกว่า เพราะมีโอกาสได้ทำอะไรที่หลากหลาย ในสายงานของตัวเอง ในตอนที่เบื่ออย่างหนึ่ง ก็สามารถไปทำอีกอย่างหนึ่งเพื่อทดแทนความเบื่อได้ ซึ่งการที่ให้คนแบบนี้ ไปทำงานในแบบซ้ำๆ เดิมๆ เพื่อสร้างความถนัด และเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ แล้วนั้น ก็อาจจะพบกับความเบื่อ จนหมดไฟในการทำงานได้
แต่ในทางกลับกันหากเป็นคนที่ชอบงานแบบ Routine ที่ทำงานเดิมซ้ำๆ หาแง่มุมใหม่ๆ ในงานเดิมจนเกิดความเชี่ยวชาญ และสร้างทักษะจากงานที่ทำอยู่ให้โดดเด่นขึ้นเหนือกว่าคนอื่นๆ แล้ว Specialized ดูจะเป็นสายที่ตอบโจทย์มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ยิ่งชอบความท้าทาย ในการศึกษาดำดิ่งลงไปในสายงานตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และมองความยากในงานของตัวเองเป็นความ Challenge แล้ว ก็คงต้องเลือกสายนี้กัน
2. โอกาสในการหางาน และผลตอบแทน
แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ในทุกๆ กรณี แต่ผลสำรวจที่ผ่านมานั้น พบว่า สาย Specilzed มักหารายได้ได้มากกว่าจากงานที่ตัวเองทำ เพราะเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวที่โดดเด่นกว่าคนอื่น จนกลายเป็นอำนาจต่อรองในการเรียกเงินได้ ยิ่งเรามีความสามารถพิเศษลงลึกมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากเท่านั้น เพราะองค์กรหาคนแบบนี้ได้ยาก และน้อยคนนักที่จะมีความสามารถถึงในระดับที่เราเชี่ยวชาญ
แต่ทั้งนี้ด้วยงานที่เฉพาะทางมาก ก็อาจทำให้ในการหางานใหม่ๆ นั้นอาจจะยากกว่าเดิม ด้วยตัวเลือกที่เปิดรับ หรือคนที่จะย้ายออกจากตำแหน่งเดิมก็น้อย เพราะคนที่เชี่ยวชาญก็มักทำงานเดิมซ้ำๆ ต่อไป เลยทำให้โอกาสในการหางานก็จะเป็นเรื่องที่ยากกว่า การทำงานในแบบ Specialized นั้น จึงไม่ควรที่จะหางานบ่อย แต่ควรหาองค์กรที่ให้ผลตอบแทนดีๆ มีสภาพแวดล้อมดีๆ และอยู่ยาวเลยอาจจะดีกว่า
ในขณะที่ Generalized นั้น มีโอกาสในการหางานได้ค่อนข้างสูง เพราะสามารถหางานใดก็ตามที่ใกล้เคียงกับสายงานได้ทั้งหมด ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยนย้ายสายงานอะไรได้ค่อนข้างมาก แต่ด้วยความที่ไม่ได้ Expert เท่าคนอื่นๆ หากต้องเป็น Candidate ร่วมกับคนี่อยู่สาย Specialized ก็อาจจะไม่ถูกเลือกก็ได้ เพราะความเชี่ยวชาญที่น้อยกว่าคนอื่น
ซึ่งในส่วนของรายได้ ในบางองค์กรมองว่า Generalized คือคนที่สามารถมองหาได้ทั่วๆ ไป ในเมื่อไม่ต้องเชี่ยวชาญลงลึกแล้ว เอาใครมากก็อาจจะได้ลักษณะที่ใกล้เคียงกัน อำนาจในการต่อรองก็อาจจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งก็อาจจะมีหลายองค์กรที่ตามหาคนประมาณนี้อยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าข้อดีก็คือโอกาสในการเปลี่ยนสายงานก็มากขึ้นตาม
3. การคาดการณ์จะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ด้วยความที่โลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา จากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาใหม่ๆ อยู่รายวัน จนทำให้หลายๆ อาชีพในปัจจุบันเริ่มมีถูกการ Disruption และมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ไปเสียหมด ซึ่งการจะเลือกสายการเรียนรู้และการทำงานนั้น อาจจะต้องพิจารณาถึงในอาชีพปัจจุบันก่อนด้วย ว่ามีโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนแปลงไปช้าเร็วขนาดไหน
ถ้าอาชีพเราไม่ได้ถูกหมุนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรู้แบบ Specialized หรือในเชิงลึกที่ต้องใช้เวลานั้น ก็ยังคงเป็นโอกาส และแนวทางที่ดี ในการเชี่ยวชาญในเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ได้มาก เพราะมีโอกาสที่จะได้ใช้ในระยะยาว และยิ่งเราทำมันนานขึ้นแค่ไหน เราก็ยิ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นจากเดิมได้มากเท่านั้น
แต่หากว่างานนั้นๆ มีโอกาสที่จะโดน Disrupt ได้อย่างง่ายดาย อาจกลายเป็นว่าสิ่งที่เรารู้ลึกนั้น อาจจะไม่ได้ใช้อีกต่อไปในอนาคต เพราะความล้าสมัยในความรู้ที่มีไปทั้งหมดแล้วก็นับเป็นความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย การที่เป็น Generalized ในสายงานแบบนี้ อาจเป็นโอกาสที่ดีกว่าเพราะความรู้เบื้องต้นในสายงานด้านข้าง จะทำให้เราสามารถปรับตัวไปทำในงานอย่างอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
ถ้ามันยากนักทำไมไม่ผสมกันซะเลยล่ะ?
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมชีวิตถึงได้มีตัวเลือกน้อยเหลือเกิน จากแค่ 2 สายเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงคนเรามีความหลากหลายกว่านั้นมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้มีแค่เพียง 2 ตัวเลือกนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกสายที่คนเรียกกันว่า T Shape อยู่ และเป็นที่นิยมสำหรับคนในโลกปัจจุบันมากๆ ซึ่งในความหมายนั้น ในแนวบน (-) ของตัวอักษร T ก็เหมือนกันความรู้ในแนวกว้าง ในขณะที่เส้นแนวตั้ง ( | ) ก็เปรียบเสมือนทักษะในเชิงลึก
เพราะทุกวันนี้การเรียนรู้กระจายอยู่ทั่วไปหมด และคนก็เข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายในแนวกว้าง หรือแนวลึกนั้น ก็อาจหาความรู้มาเติมได้ไม่ยากเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นจากคอร์สออฟไลน์ ออนไลน์ต่างๆ ทั้งแบบฟรีและไม่ฟรี ก็มีอยู่เต็มไปหมด ซึ่งเราเองนั้นก็สามารถ Scope การเรียนรู้ เพื่อให้อยู่ในขอบเขตได้ทั้งสองแกน เช่น การมองหาความรู้ในแนวกว้าง เพื่อให้มีมุมมองที่ครบถ้วนในสายงานที่ตัวเองทำ และการหาความรู้ในเชิงลึก ก็อาจจะเป็นการลึกลงไปในหลายๆ เรื่อง ที่เป็นประโยชน์ต่อสายงานที่ทำอยู่ก็ได้
ซึ่งเมื่อนำทักษะทั้งสองสายมาปรับใช้ในการทำงานได้แล้ว ก็จะสามารถทำให้เราเป็นคนที่ค่อนข้างครบเครื่องในการทำงานที่สามารถเข้าใจได้ภาพรวมของงานทั้งหมดที่มีอยู่ของสายงานตัวเอง ไปจนถึงความสามารถในการแก้ปัญหาต่างในเชิงลึกได้จากการศึกษาเพิ่มเติม และประสบการณ์ที่ได้ทำมา จนทุกวันนี้หากมีใครถามว่าเป็นสายไหน เราควรลองมาเลือกสาย T Shape กันดูดีกว่า