การตลาดดิจิทัล

6 จุดที่ต้องปรับก่อนขยับธุรกิจจาก Offline สู่ Online สู้โควิด



     และแล้วสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกก็ดันกลับมาอีกครั้งแบบที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อเจ้าเชื้อโควิดกลับมาระบาดอีกเป็นระลอกใหม่ อีกทั้งยังดูเริ่มแพร่ออกไปเกินกว่าจะเอาอยู่แล้ว บรรดาธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตระบาดหรือใกล้เคียงต่างก็ต้องรับชะตากรรมโดนล็อคดาวน์กันไป หรือต่อให้ไม่โดนก็เชื่อว่าทางลูกค้าส่วนมากเองก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปใช้บริการที่ร้านกันแน่ๆ  

     ซึ่งตอนนี้หากผู้ประกอบการได้มานั่งพิจารณาธุรกิจตัวเองอีกครั้ง จากช่วงโควิดเมื่อต้นปี ถ้าธุรกิจของเรายังคงโดนผลกระทบด้วยสภาพเดิมๆ แล้ว แสดงว่าเราเองยังไม่ได้มีเตรียมพร้อมรับมือที่ดีพอ ส่วนนึงควรต้องพิจารณาแล้วว่าถึงเวลาที่ธุรกิจของเราจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่แล้วหรือยัง เพราะเท่านี้ก็แทบจะเป็นสัญญาณที่ชัดแล้วว่า หากเป็นแบบนี้ต่อไปแล้วยังไม่แก้ไขอะไร รู้ตัวอีกทีก็อาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้

     แนวทางการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่คงหนีไม่พ้นการพาธุรกิจตัวเองจาก Offline ขยับขึ้นสู่ความเป็น Online ได้แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องปิด Offline ไปเลย เพียงแต่เป็นการทำเสริมเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้รอดภ้นจากสภาวะวิกฤตในครั้งนี้ อีกทั้งต่อให้ไม่มีโควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในยุคปัจจุบันนั้นก็ได้เวลาอันสมควรแล้วที่พาธุรกิจตัวเองให้ตามโลก Digital ให้ทัน ซึ่งวันนี้เราก็มีประเด็นสำคัญที่ชวนฉุกคิดและจูงใจให้ผู้อ่านพาธุรกิจตัวเองเข้าสู่ Online ก่อนที่จะไม่เหลือโอกาสครั้งหน้าให้เปลี่ยนอีกต่อไป

1) ไม่รู้ว่า Covid-19 จะจบจริงๆ เมื่อไร

     หลังจากช่วงเวลาที่ผ่านมา คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์ Covid จะจบลงเมื่อใด เพราะในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ ประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกันแล้ว แต่สำหรับประเทศเรานั้นยังต้องเผชิญกับการระบาดรอบใหม่ และดูท่าสถานการณ์จะแย่ลงเรื่อยๆ ในส่วนของวัคซีนที่คาดหวังกันก็อาจจะมาล่าช้า และไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากจริงๆ ว่าสถานการณ์อันเลวร้ายนี้จะจบลงเมื่อใด

     สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนว่ากระทบโดยตรงกับธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับธุรกิจประเภท Local รายเล็กๆ ต่างๆ เพราะทำให้โอกาสขาย หรือลูกค้าที่มีความกังวลใจก็มาใช้บริการน้อยลง ไม่เพียงแค่เฉพาะในพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น แต่ความวิตกของคนแพร่กระจายไปทุกที่จนได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน และหากมีการประกาศล็อคดาวน์ขึ้นมาอีกครั้ง ธุรกิจที่มีแต่เพียง Offline เท่านั้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมีหน้าร้านที่เปิดไม่ได้ ดังนั้นการพาธุรกิจขึ้น Online ในช่วงนี้ จึงเป็นหนทางรอดที่สำคัญมาก ซึ่งนิยามคำว่า Online นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำ Website หรืออะไรขึ้นมาเอง แต่อาศัย Platform อื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดแล้วได้

     ตัวอย่างเช่นหากคุณเป็นร้านอาหาร ก็ควรที่จะเริ่มผูกกับ Delivery Application ต่างๆ หรือในส่วนของร้านขายสินค้าปลีกก็อาจพิจารณานำสินค้าขึ้นไปบน Shopping Application  เจ้าให้มากขึ้นได้แล้ว ซึงนอกจากเข้าไปแล้ว ยังต้องพยายามหากลยุทธ์ หาวิธีทำการตลาด สร้างความโดดเด่นให้กับตัวเองบนเจ้าต่างๆ ที่มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้ไม่ยาก

2) ลูกค้าอาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้วแบบถาวร

    มีผลวิจัยนึงที่ทุกคนน่าจะพอรู้กันอยู่แล้วจาก Mckinsey ถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่พบว่าคนส่วนมากของทุกช่วงอายุนั้นมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น และปรับตัวให้อยู่ในบ้านได้อย่างมีความสุขกว่าเดิม ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกก็พบว่าพฤติกรรมมีโอกาสที่เป็นเช่นนั้นต่อไปมากขึ้นและมากขึ้น

    นั่นหมายความว่าธุรกิจที่มีเพียงแต่หน้าร้านแบบ Offline เท่านั้น ที่น่าจะโดนพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้กระทบไปแบบเต็มๆ เพราะกลายเป็นว่าช่องทางเดิมที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการถึงจะไม่เชื่อในรายงานดังกล่าวก็สามารถพิจารณาถึงยอดขายของตัวเองในช่วงที่ผ่านๆ มาก็ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

    ดังนั้นในส่วน Offline ที่ธุรกิจมีอยู่ หากมันไม่เป็นต้นทุนที่มากแล้ว ในช่วงต้นเราอาจจะพิจารณาถึงการมีอยู่ของ Offline และ Online ควบคู่กันไปก่อนก็ได้ โดยในส่วนของ Offline นั้นจะเป็นในลักษณะของหน้าร้านเพื่อความน่าเชื่อถือ หรือให้ลูกค้าได้มีโอกาสมาเลือกสรรสินค้าแบบจับต้องได้ ผสมกับ Online ที่ให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองสั่งสินค้าหรือบริการตามเทรนด์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

3) ข้อมูลที่ได้จากออนไลน์ได้อะไรมากกว่าที่คิด

    ในยุค Digital ที่ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจนั้น ทำให้เราพบจุดอ่อนอีกอย่างในการทำธุรกิจจาก Offline เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือข้อมูลที่ขาดแคลนไป เพราะธุรกิจแบบมีหน้าร้านนั้น ต่อให้มีเทคโนโลยีที่เพียงพอก็อาจเก็บข้อมูลได้แค่จำนวนคนที่เข้าร้าน ยอดขายต่อหัว รวมไปถึงยอดขายในแต่ละวัน แต่ไม่สามารถเก็บไปถึงขนาดพฤติกรรมของลูกค้าได้ว่า ในแต่ละวันผู้คนที่เข้ามา เป็นเพศอะไร อายุเท่าไร มีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อเข้ามาเลือกซื้อสินค้าในร้าน บางคนเข้ามาดูบางชั้นวางแต่ไม่เลือกซื้อ หรือใช้เวลาอยู่ในร้านเป็นเวลาเท่าไร อะไรเหล่านี้ ซึ่งหากจะต้องใช้การสังเกตและบันทึกจริงๆ ก็คงต้องกินเวลาชีวิตเป็นอย่างมากจนไม่ต้องไปทำอย่างอื่นกันพอดี

    ในขณะที่หากเรานำธุรกิจขึ้น Online ไปแล้วนั้น เราจะสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ได้หมดอย่างครบถ้วนทุกช่วงเวลาโดยไม่ต้องมาอาศัยการสังเกตหรือบันทึกเอาเอง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แหละที่กลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการนำไปวิเคราะห์ถึงการทำแผนธุรกิจหรือแผนการตลาดต่างๆ ในอนาคตต่อไปได้อย่างแม่นยำ และมีหลายแง่มุมที่สามารถดูและนำมาปรับใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงทีไม่ว่าจะเป็นกับโอกาสใหม่ๆ หรือวิกฤตที่เข้ามา อีกทั้งการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคยังช่วยให้เราเข้าใจลูกค้ามากยิ่งขึ้นไปอีก จนสามารถมอบสินค้าและบริการที่ตรงใจกับพวกเขามากขึ้นได้ในอนาคต

4) ขยายช่องทางจากแค่ Local สู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น

     การเป็นร้านค้าแบบ Offline นั้นมีข้อจำกัดในหลายๆ อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของสถานที่ตั้ง ที่มักพบปัญหาหลายๆ อย่างที่ทำให้ลูกค้ามีโอกาสมาใช้บริการน้อยลง เช่น ระยะทางที่ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางด้วยรถสาธารณะได้ สภาพการจราจรที่กินเวลาในการเดินทางไปเยอะ หากใช้รถไปเองเมื่อถึงก็อาจไม่มีที่จอดที่เพียงพอหรืออำนวยความสะดวก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็อาจทำให้หลายๆ คนอาจถอดใจไม่ไปใช้บริการตั้งแต่เริ่มเลยก็ได้ อีกทั้งร้านค้าแบบแบบ Offline นั้นอาจให้บริการลูกค้าได้แค่ในพื้นที่ ที่ก็จะได้ตลาดลูกค้าเพียงเท่านั้น โอกาสที่จะขยายตลาดขึ้นก็เป็นเรื่องยาก ถึงจะมีเพิ่มมาหน่อยก็อาจจะเป็นลูกค้าขาจรที่แค่ผ่านไปมา แต่เราก็หวังพึ่งพาตรงนี้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้

     ดังนั้น Online จึงเป็นอีกตัวช่วยที่จะลดช่องว่างตรงนี้ ให้ทำเลไม่ใช่ปัจจัยอีกต่อไป เพราะ Online นั้นสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ และยิ่งในยุคที่มีการส่งสินค้าที่ครอบคลุมแบบนี้แล้ว ยิ่งมีประโยชน์เข้าไปกันใหญ่ ทำให้แทนที่เราจะมีตลาดลูกค้าแค่ในพื้นที่เท่านั้น แต่เรายังสามารถเปิดโอกาสสู่โลกภายนอก ข้ามเขต ข้ามจังหวัด หรืออาจหวังไกลไปถึงข้ามประเทศก็ยังได้ อีกทั้งเรายังไม่ต้องพะวงเรื่องเวลาเปิดปิดเรื่องหน้าร้านด้วย เพราะ Online นั้นจะทำให้เราสามารถเปิดร้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง (ส่วนจะกำหนดรอบส่งของอะไรก็อีกเรื่องนึง) นับเป็นอีกก้าวที่จะทำให้ร้านค้าของคุณเปิดโลกได้มากขึ้นอย่างแท้จริง

5) ถ้าปรับ Online แบบเต็มตัว ลดต้นทุนได้มาก

     ในขณะที่ธุรกิจแบบ Offline นั้นยังต้องอาศัยในส่วนของหน้าร้านที่ตั้งอยู่จริงๆ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือต้นทุนมหาศาลทั้งจากค่าสถานที่ น้ำ ไฟ ค่าบำรุงรักษาต่างๆ นานา หรือจริงๆ ก็ต้องบอกว่าเริ่มที่ค่าตกแต่งตั้งแต่เริ่มแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็น Fixed Cost ก้อนใหญ่มากๆ ที่ทำให้เราจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในทุกๆ เดือน แม้ว่าจะเป็นในยุคโควิดที่ลูกค้าและยอดขายหดหายตายจากแบบนี้ แต่เราก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ ซึ่งหากแต่ละเดือนนั้นยังมีรายจ่ายที่เกินรายได้เหล่านี้อยู่ไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้ธุรกิจเจ๊งไปได้เลย

     ที่กล่าวมานั้นก็ไม่ได้แปลว่าหากก้าวมาในธุรกิจแบบ Online แล้วจะไม่มีต้นทุนอะไร เพียงแต่มันน้อยกว่ามาก ทั้งเงินที่ต้องเสียไป รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุน  เพราะในด้าน Online นั้น หากเราใช้ Platform เดิมที่มีอยู๋แล้วนั้น สิ่งที่เราเสียก็จะเป็น % ที่ถูกหักออกจากยอดขายเมื่อมีการขายได้ หากขายไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียในส่วนนี้ หรือหากต้องการมี Website เป็นของตัวเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นที่มากหน่อย แต่ส่วนที่เหลือก็ไม่เท่าไรแล้ว แต่เมื่อเทียบว่าโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ก็นับได้ว่าเป็นอีกช่องทางที่คุ้มค่ากว่ากันไม่น้อยเลย

6) Online Ads มีความแม่นยำสูง และต้นทุนน้อยกว่า

     หากยังจมปลักอยู่กับ Offline แล้ว การจะทำการตลาดหรืออะไรก็คงยาก ส่วนนึงมาจากเรื่องของการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่ได้พูดถึงไว้ในข้อก่อนหน้านี้ ไม่เพียงแค่นั้นการตลาดแบบ Offline จะทำให้เราสิ้นเปลืองเงินไปกับการโฆษณาหรือการตลาดแบบเปล่าประโยชน์ เนื่องจากมีการใช้ต้นทุนที่สูงช่องทางที่จะทำการตลาดก็น้อยนิด อีกทั้งยังไม่รู้ว่าการสื่อสารของเรานั้นไปถึงลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด แถมเมื่อทำออกมาแล้วก็วัดผลได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าที่ลูกค้าตอบรับนั้น มาจากการตลาดของเราหรือไม่ หรือถ้าใช่ จะนับว่ามาจากอันไหน และมีประสิทธิภาพเท่าไร ก็ยากที่นำมาวิเคราะห์ได้ ทำให้ไม่ว่าจะวางกลยุทธ์แบบใดให้กับร้านก็มักหลงทางอยู่เสมอ

     แต่ถ้าได้ลองขึ้นมาเป็น Online แล้ว ความสามารถในการสื่อสารไปยังลูกค้าของเราจะเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นการส่งข่าวสารใหม่ๆ การแนะนำโปรโมชั่นต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้เราสามารถทำได้ไปถึงลูกค้าที่ตรงจุดมากขึ้นด้วย เพราะหากเรามีข้อมูลของบรรดาลูกค้าของเราในระบบแล้ว เราจะสามารถเลือกได้เลยว่าในแคมเปญต่างๆ ที่เราอยากทำนั้น จะสื่อสารไปถึงใครบ้าง รวมถึงยังสามารถเอาพฤติกรรมการเลือกซื้อ เลือกใช้ หรือพฤติกรรมจากการใช้ร้าน Online มาปรับปรุงพัฒนาการโฆษณาได้มากขึ้นด้วย และยิ่งถ้าเรานำเสนอสินค้าและบริการไปยังลูกค้าได้ตรงจุดได้มากเท่าไร โอกาสสร้างรายได้เราก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

Related posts
การตลาดดิจิทัล

Cloud Kitchen แนวทางต่อลมหายใจ เมื่อร้านอาหารไม่มีหน้าร้านแล้ว

การตลาดดิจิทัล

"Momketing การตลาดฉบับคุณแม่" กระตุ้นต่อมซื้อมนุษย์แม่ยุคใหม่ ทำได้อย่างไร?

การตลาดดิจิทัลดิจิทัลต้องรู้!

6 หนังสอนธุรกิจชั้นดีในยุคใหม่ ที่เจ้าของกิจการควรหาโอกาสดู

การตลาดดิจิทัลดิจิทัลต้องรู้!

"เล่นไอจีให้มีรายได้" เทรนด์สร้างเงินสุดฮิตบน Instagram ในปี 2021

Sign up for our Newsletter and
stay informed
[mc4wp_form id="14"]