1) คุณภาพและรสชาติอร่อย ยังไงก็เป็นหัวใจสำคัญ
ไม่ว่าเทคนิคข้ออื่นๆ ของเราจะดีสักแค่ไหน หากรสชาติอาหารไม่ได้เรื่อง หรือใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว ลูกค้าจะสั่งมาลองเต็มที่ก็แค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น เพราะสำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้น “Taste is King” จากผลสำรวจที่ผ่านมาปัจจัยอันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือกในการสั่งอาหารนั้น ก็เป็นเรื่องของรสชาติถึง 79% เลยทีเดียว ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพของรสชาติของอาหารที่ดี และต้องคิดไปถึงกรณีที่อาหารไปถึงผู้รับล่าช้า จะลดรสชาติไปได้มากน้อยขนาดไหน และเรามีคำแนะนำในการทำให้อาหารของเราในมือลูกค้ากลับมาสดใหม่ได้อย่างไรบ้าง เช่น แนะนำว่าถ้าอาหารเย็นแล้ว ให้นำเข้าไมโครเวฟ ความร้อนเท่านั้น ด้วยเวลาเท่านี้ จะได้คุณภาพอาหารกลับมาเหมือนเพิ่งปรุงเสร็จ เพื่อลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการทานอาหารร้านเราได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
ซึ่งสำหรับในข้อนี้อาจจะไม่ห่วงกันเท่าไร เพราะหากร้านอาหารของคุณได้รับการตอบรับที่ดีอยู่แล้วในขณะที่เปิดหน้าร้าน การขึ้นออนไลน์ก็พยายามรักษามาตรฐานเดิม เพิ่มเรื่องความสะอาด และบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่ดีก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่เช่นนั้นแล้วลองหาทางพัฒนาสูตรอาหารให้ดีก่อน น่าจะเป็นสิ่งแรกที่ควรเริ่มเลย
2) ภาพอาหารคือสิ่งเดียวที่สร้างความอยากได้
ภาพสวยๆ คือสิ่งเดียวที่ลูกค้าจะสามารถใช้ประสาทสัมผัสผ่านสายตาได้จากการเลือกซื้ออาหารแบบออนไลน์ ซึ่งจะต่างจากการไปเดินเลือกร้านเอง ที่จะเห็นอาหารแบบของจริง บางครั้งจะได้เห็นกระบวนการปรุงอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงการได้รับกลิ่นเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่สำหรับการสั่งอาหารผ่าน Application นั้น ภาพสวยๆ คือสิ่งเดียวที่กระตุ้นความอยากนั้นได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ภาพประกอบของอาหารในร้านจึงเป็นอีกจุดที่สำคัญที่ทำให้ลูกค้านั้นตัดสินใจเลือกซื้อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราเพิ่งเป็นร้านใหม่ หรือร้านที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนัก ภาพอาหารสวยๆ จะช่วยเพิ่มการตัดสินใจให้ได้แน่นอน โดยหลักการง่ายๆ คือ ภาพชัด จัดสวย สีสดใส ซึ่งในส่วนนี้หากยังไม่มีความสามารถในการถ่ายและแต่งรูปเพียงพอ แนะนำให้ลงทุนจ้างได้เลย เพราะนับเป็นอีกส่วนสำคัญของร้านอาหารออนไลน์จริงๆ
3) ทำทุก Platform ให้สอดคล้องกัน
บางร้านอาหารอาจใช้ Platform เจ้าเดียว แต่ทุกวันนี้เหมือนลูกค้าจะมีหลายแอพเอาไว้เปรียบเทียบราคากันแล้วการมีแอพเดียวก็อาจไม่พออีกต่อไป ดังนั้นหากสามารถมีเวลาจัดการและดูแลในหลากหลายแอพได้ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางของตัวเองได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเริ่มทำแล้วก็ต้องดูแลให้ทุกอย่างของร้านนั้นมีความสอดคล้องกัน ทั้งในส่วนของ Logo, รูปภาพอาหาร และเนื้อหาต่างๆ ให้ไปในทางเดียวกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่น่าจดจำให้กับแบรนด์ของร้าน
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงช่องทางๆ อื่นๆ ของทางร้านไม่ใช่แค่ Platform อาหารด้วย แต่ยังต้องรวมไปถึงในส่วนของพื้นที่ Social Media ต่างๆ เช่นใน Facebook, Instagram ของร้านด้วย ที่จะต้องสร้างเนื้อหาให้ตรงกับในร้านออนไลน์ของตัวเอง เผื่อลูกค้านำร้านไปหาข้อมูลต่อก็จะสามารถเจอร้านเราได้อย่างรวดเร็วขึ้น
4) จัดเซตตัวเลือกให้เหมาะกลุ่มลูกค้าของร้าน
สำหรับร้านที่มีเมนูค่อนข้างหลากหลาย และมีตัวเลือกเป็นจำนวนมาก การให้ลูกค้านั่งไล่เลือกเมนูที่มากเกินไปอาจทำให้ลูกค้าถอดใจไปง่ายๆ เพราะเลือกไม่ถูก และไม่รู้ว่าเมนูไหนคือ Signature ที่ชวนรับประทานของร้าน การคัดเลือกเมนู Signature ก็เป็นอีกวิธีสำหรับการสร้างอาหารจานเดี่ยวที่น่าสนใจให้ขึ้นมาโดดเด่นหน้าร้านได้ แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่า มันคือจานเด็ดจริงๆ เพราะมีโอกาสที่ลูกค้าจะสั่งไปลิ้มลองเยอะมากๆ
นอกจากนี้แล้ว การจัดเซตเมนูสำหรับ 2-3 คน และ 4-5 คน ก็เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกเมนูได้ง่ายขึ้น และเลือกสั่งได้เหมาะสมกับจำนวนคนกลุ่มตัวเอง โดยที่ไม่ต้องนั่งไล่เมนูทั้งหมด เพราะโดยปกติแล้วลูกค้าที่สั่งอาหารผ่านแอพแล้วสิ่งที่ต้องการคือความสะดวกสบายและความรวดเร็ว การที่ต้องเลือกเยอะก็ทำให้เสียเวลาไม่น้อย ดังนั้นการมอบตัวเลือกที่ง่ายต่อการตัดสินใจ และมีให้เลือกในปริมาณที่พอเหมาะจึงเป็นสิ่งที่ควรจัดการเป็นอย่างมาก
5) มีพื้นที่รีวิวไว้ให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น
สำหรับร้านใหม่ หรือยังไม่มีชื่อเสียงมาก ก็มีความเป็นได้อย่างสูงที่ลูกค้าจะเลือกหารีวิวก่อนที่จะตัดสินใจสั่ง และบางครั้งตัว Platform เองก็ไม่ได้กระตุ้นให้ผู้ใช้นั้นกลับมารีวิวให้มากนัก (หรือบางรายก็ไม่มีระบบนี้เลย) ซึ่งหากเป็นไปได้ การขอความร่วมมือจากลูกค้าให้อย่างน้อยกดดาวหรือคอมเมนท์กับให้ร้านที่มีระบบรีวิวรองรับ ถ้าหากถูกใจ จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าทำในช่วงต้นเพื่อสร้างฐานรีวิวบนแอพนั้นๆ
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราควรมี Social Media เป็นของตัวเอง อย่างน้อยๆ ก็เป็นช่องทางให้ลูกค้าได้เข้ามา Comment หรือ Share ในสิ่งที่พวกเขาชอบ เพื่อเป็นกระแสตอบรับที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของลูกค้ารายต่อๆ ไป เพราะเป็นเรื่องปกติไปแล้วในการเลือกดูรีวิวก่อนสั่ง อีกทั้งเรายังสามารถลงรูปอาหารในมุมอื่นๆ หรือภาพอาหารสวยๆ รายวันในพื้นที่ของเราเองได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร้านที่มีราคาค่อนข้างสูง เพราลูกค้ามีแนวโน้มจะหาข้อมูลก่อนตัดสินใจก่อนเสมอ นอกจากนี้การมีช่องทางอื่นๆ ยิ่งมีส่วนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และให้ผู้คนมีโอกาสพบเห็นร้านเรามากขึ้น
6) Promotion ต่างๆ ช่วยดึงดูดได้มาก
โดยปกติแล้วแต่ละ Platform ก็จะมีช่วงโปรโมชั่นของตัวเองไม่ว่าจะเป็นตามเทศกาลต่างๆ หรืออยุ่ๆ ก็จัดโปรกระตุ้นยอดขายขึ้นมาอยู่โดยตลอด หากแอพไหนอนุญาตให้เราสามารถทำ Code ส่วนลดได้เอง ส่งฟรี หรือเข้าร่วมโปร 1 แถม 1 ก็เป็นจังหวะที่ดีที่ทำให้เราสามารถจัดโปรโมชั่นลดราคาได้ตามช่วงเวลาในโอกาสต่างๆ ตามที่เราต้องการ
แต่สำหรับบาง Platform ที่ทำไม่ได้นั้น หน้าที่ของเราคือพยายามทำการโปรโมทในส่วนของ Promotion ควบคู่ไปกันไปกับตอนที่ Platform ทำ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีคนพบเห็น และสั่งมากขึ้น เพราะนอกจากปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดแล้วนั้น การลดราคาก็เป็นอีกแนวทางให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกร้านเราได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งต้องอย่าลืมคำนวณต้นทุนและราคาขายให้ดี เพราะในแต่ละร้านก็มีการหักค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากัน อย่าเผลอจัดโปรลดราคาจะไม่เหลือกำไรกัน
7) ใช้ Data ในการสร้างกลยุทธ์ต่อไปในอนาคต
Platform พวกนี้แม้จะไม่มีข้อมูลอย่างละเอียดในการเอามาทำ Analytic แบบเจาะลึกมากนัก แต่อย่างน้อยๆ ข้อมูลเบื้องต้น จากยอดขายของเราก็น่าจะพอบอกได้ถึง เมนูยอดฮิตของเรา เมนูไหนขายได้มากที่สุด หรือชุดเซตที่เราจัดเอาไว้ ได้รับความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด หากการจัดเมนูแบบ 2-3 คน เป็นที่นิยมแล้ว ก็ควรที่จะลองหา Option ใหม่ๆ ลองมาตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
หรืออาจจะใช้ข้อมูลในส่วนของช่วงเวลาที่ขายดีในแต่ละวัน หรือหาวันที่ขายดีของแต่ละสัปดาห์เพื่อดูว่าช่วงไหนที่เราจะต้องเตรียมตัว เตรียมวัตถุดิบให้มากขึ้น เพื่อเพียงพอต่อการขายและพร้อมส่งได้ภายในเวลาอันสั้น รวมถึงในช่วงเวลาที่จัดโปรโมชั่นก็สามารถบอกได้ด้วยว่า โปรโมชั่นที่เราปล่อยออกมานั้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของลูกค้าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เพื่อปรับแผนโปรโมชั่นที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต